ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30น.วันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2564

11 มกราคม 2564, 12:47น.



จ.ตาก เตรียมประชุมรับคนไทยกลับจากเมียนมา



          พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึง การดูแลชายแดนภาคเหนือภายหลังมีคนไทยในเมียนมาร้องขอกลับประเทศเป็นจำนวนมากว่า ช่วงบ่ายวันนี้ ได้มอบหมายให้รองแม่ทัพไปประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทหาร ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุขจังหวัด หลังได้รับข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัดตากว่าคนไทยที่อยู่ที่ประเทศเมียนมา ขอความช่วยเหลือ ต้องการเดินทางกลับประเทศ และบางส่วนติดเชื้อโควิด-19 จะเข้ามารักษาตัวใน อ.แม่สอด จ.ตาก เบื้องต้นยืนยันได้รับรายงานว่ามีประมาณหลักร้อยคน โดยจะขอข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเมินว่าโรงพยาบาลในพื้นที่สามารถรองรับได้มากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นสาธารณสุขจังหวัดก็ยืนยันว่าหากเป็นคนไทยก็จะต้องรับตัวมารักษา สำหรับประเด็นของการลักลอบเข้า-ออกประเทศแบบผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งภายหลังการรักษาตัว



ปลัดมท.สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเข้มลักลอบเข้าเมือง-บ่อนพนัน เจ้าหน้าที่บกพร่อง มีความผิดตามระดับ



          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้ดำเนินการตามข้อสั่งการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ



          1.มาตรการป้องกันการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชุมร่วมกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงวางมาตรการเข้มงวด ทั้งช่องทางธรรมชาติ และการคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองและการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย รู้เห็นเป็นใจกับการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ให้รายงานให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ทราบ เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาระดับสูงต่อไป



         2. มาตรการเข้มงวดต่อการลักลอบเล่นการพนัน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชุมร่วมกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เพื่อวางมาตรการเข้มงวดไม่ให้ลักลอบเล่นการพนันในพื้นที่ และให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านหาข่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดี



         3.มาตรการต่อกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ทุกระดับถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 งดออกใบอนุญาตจัดให้เล่นการพนันชนไก่ กัดปลา ชกมวย แข่งม้า ชนโค และไพ่ผ่องไทย ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด หากพื้นที่ใดปล่อยปละละเลย จะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่แต่ละระดับที่เกี่ยวข้อง



          4.การตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ ให้จังหวัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และเตรียมความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการบริหารจัดการ โดยให้พิจารณาความเหมาะสมของสถานที่ และชี้แจง สร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการต่อต้านในพื้นที่



          5.การประชาสัมพันธ์ แนะนำดาวน์โหลดและใช้งานระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ให้จังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกับอาสาสมัครในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์การใช้ระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และขอความร่วมมือสถานศึกษาหรือศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่มอบหมายบุคลากรในสังกัดให้ความช่วยเหลือแนะนำการดาวน์โหลดและใช้งานระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” แก่ประชาชน



          6.ให้ทุกจังหวัดรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กำหนดให้ศบค.มท.ทราบทุกวันภายในเวลา 16.00 น. รวมถึงกรณีพบว่าการกระทำผิดกฎหมาย หรือการจับกุมดำเนินคดี




ทีม ศก.หารือนายกฯ หามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม  



          นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี คาดว่า จะหามาตรการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจกับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 รอบใหม่



          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อรายงานสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 พร้อมรับมอบนโยบายก่อนการประชุม ศบค.ชุดเล็ก



รายงานสถานการณ์วันที่ 11 ม.ค.2564




1.ผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 249 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 10,547 คน



-ติดเชื้อในประเทศ  224 คน เช่น



:จ.สมุทรสาคร จำนวน 37 คน ผู้ติดเชื้อเกินครึ่งอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบว่ามีเด็กหญิงอายุ 9 เดือน รวมอยู่ด้วย



:จ.นนทบุรี จำนวน 31 คน ผู้ติดเชื้อเกินครึ่งอายุ 40 ปีขึ้นไป



: จ. อ่างทอง จำนวน 19 คน



:กรุงเทพฯ จำนวน 36 คน ผู้ติดเชื้อเกินครึ่งอายุ 40 ปีขึ้นไป



-ติดจากต่างประเทศ 25 คน



 : ในจำนวนนี้มาจากเมียนมา 14 คน



-นอกจากนี้ มีการรอสอบสวนโรค 29 คน



-คัดกรองเชิงรุก 48 คน จำนวน 43 คน อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ



2.รักษาหายแล้ว 138 คน รักษาหายดีแล้ว 6,566 คน



3.นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,914 คน



4.ไม่มีผู้เสียชีวิต เสียชีวิตรวม 67 ราย





          การหารือในวันนี้ นายกฯ  พร้อมทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกจากสถานที่กักตัว เข้าร่วมประชุมด้วย มีความเป็นห่วงกรณีที่มีผู้ป่วยอาการหนัก 28 คน อยู่ในการดูแลของแพทย์ มีผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ 5 คน ขอยืนยันว่า เรายังมี ยา เตียง ดูแลผู้ป่วยอาการหนัก



CR:ศูนย์ข้อมูลโควิด-19




โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประกาศปิดให้บริการโรงอาหาร 2 แห่ง หลังพบพนักงานติดเชื้อ โควิด-19



          โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ปิดให้บริการโรงอาหารตึกไผ่สิงโต และศูนย์อาหาร ฬ BISTRO หลังพบพนักงานในสังกัดติดเชื้อโควิด-19  โดยมีข้อความว่า ด้วยมีบุคลากรในสังกัดสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากการใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ จ. อ่างทอง และมีประวัติเข้ามาทำงานภายในพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามรายละเอียดวันและเวลาดังนี้



-วันที่ 4 ม.ค.2564 เวลา 08.30-09.00 น. รับประทานอาหาร ณ โรงอาหาร ตึกไผ่สิงโต และไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมายภายนอกโรงพยาบาล



-วันที่ 5-8 ม.ค.2564 เวลา 08.30-09.00 น. รับประทานอาหาร ณ ศูนย์อาหาร ฬ BISTRO และไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมายภายนอกโรงพยาบาล



-วันที่ 9 ม.ค.2564 มีอาการไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ก่อนเข้ารับการตรวจและพบว่าติดเชื้อโควิด-19



          ผลการสอบสวนโรคพบมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ทำงานใกล้ชิด 24 คน โดยได้รับการตรวจหาเชื้อและแยกตัวตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.2564 เนื่องจากผู้ติดเชื้อไปใช้บริการโรงอาหารและศูนย์อาหารต่างๆ ภายในเขตพื้นที่โรงพยาบาล จึงปิดให้บริการ โรงอาหารตึกไผ่สิงโต และศูนย์อาหาร ฬ BISTRO ในวันที่ 11 ม.ค. 2564 เพื่อทำความสะอาด และเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 12 ม.ค.2564



"บัวแก้ว" เร่งช่วย "เชฟแต่ง" ยูทูบเบอร์ชาวไทยในสหรัฐฯ กลับมารักษาตัวที่ประเทศไทย



          นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ เร่งให้ความช่วยเหลือนายยุทธศักดิ์ ธนวรรณ หรือ “เชฟแต่ง” ยูทูบเบอร์ชาวไทยในสหรัฐฯ ซึ่งมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก ขณะกำลังถ่ายทำคลิปรายการลงเพจ Facebook “ครัวแต่งศรีมณีเด้ง By เชฟแต่ง USA” โดยได้เข้ารับการผ่าตัดสมองและอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาล George Washington University (GWU) กรุงวอชิงตัน

          สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้เข้าเยี่ยมนายยุทธศักดิ์ เป็นระยะ และสอบถามอาการจากแพทย์ เพื่อแจ้งกระทรวงและประสานงานกับครอบครัว ซึ่งประสงค์จะนำนายยุทธศักดิ์ กลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลในไทย โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายผู้ป่วยโดยเที่ยวบินเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ (air ambulance) ค่าทีมแพทย์ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ และค่ากักตัวใน AHQ 14 วัน ขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับสายการบิน

          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความช่วยเหลือญาติของนายยุทธศักดิ์ ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ พ.ศ. 2562 โดยเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ญาติของนายยุทธศักดิ์ ได้ยื่นขอทำสัญญารับรองการชดใช้เงินคืนตามระเบียบ 



         นอกเหนือจากการยื่นขอรับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ครอบครัวของนายยุทธศักดิ์ ได้เปิดรับบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อนำนายยุทธศักดิ์ กลับประเทศไทยผ่าน Facebook อีกทั้งสมาคม ชุมชนไทย และสื่อมวลชนไทยในกรุงวอชิงตันและรัฐใกล้เคียง ได้ร่วมรณรงค์ขอรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้วย โดยคนไทยในประเทศไทย สามารถบริจาคเงินได้ที่ธนาคารออมสินเลขบัญชีที่  051380731706 สาขาสามชุก ชื่อบัญชี : Mrs. Nuchada Thanawan (นางนุชาดา ธนวรรณ)




สหรัฐฯ ลดธงลงครึ่งเสาไว้อาลัย 2 นายตำรวจ เสียชีวิตจากเหตุจลาจล



          ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ มีคำสั่งให้สถานที่ราชการทุกแห่งของประเทศ ซึ่งมีการประดับธงชาติ ลดธงลงครึ่งเสา จนถึงช่วงค่ำของวันพุธที่ 13 ม.ค. 2564 ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อร่วมไว้อาลัยให้กับการเสียชีวิตของตำรวจประจำรัฐสภา 2 นาย คำสั่งของผู้นำสหรัฐฯ เกิดขึ้นช้ากว่าการที่นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งลดธงชาติสหรัฐฯของอาคารรัฐสภา และคำสั่งของนายทรัมป์ ไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 ซึ่งมีการปะทะกันอย่างดุเดือด ระหว่างเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายจากหน่วยงานหลายแห่ง กับมวลชนฝ่ายสนับสนุนผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 6 ราย รายล่าสุดคือ เจ้าหน้าที่โฮวาร์ด ลีเบนกู๊ด เสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนตำรวจอีกนายคือ เจ้าหน้าที่โรเบิร์ต ซิกนิก เสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น



          เหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว กลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้กับนายทรัมป์ ทั้งที่อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระ โดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก ต้องการให้นายทรัมป์ลาออกจากตำแหน่งให้เร็วที่สุด และยืนยันที่จะลงมติบทบัญญัติถอดถอนนายทรัมป์เป็นครั้งที่ 2 หลังรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 25 เพื่อยึดอำนาจบริหารจากผู้นำสหรัฐฯ



          ขณะที่ รายงานหลายกระแส ระบุว่า นายทรัมป์ และ นายเพนซ์ ไม่ได้หารือกันอีก นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่รัฐสภา เมื่อนายทรัมป์ ปลุกระดมให้กลุ่มผู้สนับสนุนเคลื่อนขบวนไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รองผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งกำลังทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมสองสภาพลิกผลเลือกตั้ง




 

ข่าวทั้งหมด

X