วันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อ ลงมติจัดกลุ่มฉีดวัคซีนโควิด-19
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง แผนการจัดสรรวัคซีน 200,000 โดสแรกที่จะเข้ามาฉีดในสถานการณ์เร่งด่วนจะให้กับกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว เบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้กับบุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรที่ทำงานหน้าด่านในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 11 ม.ค. 2564 หากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่แผนการเตรียมความพร้อม พิจารณาสถานพยาบาลที่จะจัดบริการฉีด การอบรมเจ้าหน้าที่ และการลงทะเบียนด้วยแอปพลิเคชัน เนื่องจาก มีการเคลื่อนของคน การใช้แอปฯจึงสะดวกในการลงทะเบียนและติดตามการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม และติดตามผลหลังการรับวัคซีนด้วย และผลข้างเคียงจากวัคซีนด้วย
หลังการรับวัคซีนแล้ว กรมควบคุมโรค ก็จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสถานพยาบาล ติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนทุกคนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากมีอาการอะไรก็จะมีระบบบันทึกข้อมูล หากมีอาการรุนแรงก็จะมีคณะกรรมการตรวจสอบอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน หากรุนแรงมากและคิดว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนก็จะสอบสวนและหยุดการฉีดวัคซีนไว้
การฉีดวัคซีนเป็นไปตามมาตรฐานสากล สำหรับการกระจายวัคซีนส่วนกลางจะมีคลังของกรมควบคุมโรค ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ส่งกระจายไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และกระจายต่อไปที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีจุดให้บริการกว่า 11,000 แห่ง เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนใกล้บ้านที่สุด
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การซื้อวัคซีน 2,000,000 โดส จากบริษัทซิโนแวค เป็นวัคซีนเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมมีความปลอดภัยสูง ที่ประเทศจีนมีการฉีดให้ประชาชนจำนวนมากโดยเป็นการใช้ในกรณีฉุกเฉิน ยังไม่พบว่ามีรายงานผลข้างเคียงชนิดรุนแรง และคงจะได้ขึ้นทะเบียนในประเทศจีนได้ในเร็ววัน
การนำเข้ามาใช้ในไทย จะเป็นการทยอยนำเข้ามา ล็อตแรกปลายเดือน ก.พ.2564 ล็อตถัดไปคือ มี.ค.2564 เม.ย. 2564 ซึ่งการทยอยนำเข้ามาก็จะทำให้ไทยได้เกิดการเรียนรู้ด้วยจากนั้น พอเดือน พ.ค. 2564 ก็จะเป็นล็อตใหญ่จากบริษัทแอสตราเซเนกา 26,000,000 โดส และหลังจากนั้นอีก 35,000,000 โดส โดยรวมที่มีการจัดหาวัคซีนใช้ประเทศไทยประมาณกว่า 60,000,000 โดส สำหรับคนไทยประมาณ 30 ล้านคน เบื้องต้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2564 องค์การเภสัชกรรมได้สำรองงบกว่า 1,000 ล้านบาท ซื้อมาก่อนระหว่างที่รัฐบาลยังไม่ได้โอนงบประมาณมาให้
สมุทรปราการ กำชับการเดินทางเข้าออก คนที่มาจาก 5 จังหวัด
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ชี้แจงข่าวที่ระบุว่า จังหวัดยกระดับมาตรการคุมเข้มมากขึ้นในการสกัดโควิด-19 ว่าข้อเท็จจริง คือ จังหวัดไม่ได้มีการปรับหรือยกระดับเป็นจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่จะตรวจคัดกรองคนที่เดินทางเข้าออกจังหวัดสมุทรปราการที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด อย่างเข้มข้น เป็นไปตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงมหาดไทย 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และ ตราด
การคุมเข้มดังกล่าวเป็นการชี้แจงแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้รับทราบและปฏิบัติ พร้อมทั้งให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจําจุดตรวจหรือจุดสกัดรับทราบแนวทางปฏิบัติว่า “เอกสารรับรองความจําเป็น” สามารถใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ประจําจุดตรวจหรือจุดสกัดได้ทั้งเข้าและออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
เร่งสอบ'บ่อนเทพารักษ์' หลังพบไทม์ไลน์ผู้ป่วย ติดเชื้อจากบ่อน
พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) กล่าวถึง กรณีผู้ป่วยหญิงรายที่ 256 ของกรุงเทพฯ มีไทม์ไลน์เดินทางไปบ่อนการพนัน เทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.2563 จะเร่งดำเนินการตรวจสอบ และต้องตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหมือนพื้นที่อื่น
ความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงตำรวจที่เกี่ยวข้องกับบ่อนแพร่เชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกฎคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ มีเวลา 60 วัน ที่คณะกรรมการต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวน ผู้ถูกกล่าวหาต้องไปหาเหตุผลมาอธิบายแก้ต่างหักล้างกัน หากพบว่า มีความผิดจริง ต้องลงโทษอยู่แล้ว ไม่มีทางหนีไปไหนได้ พร้อมยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
คนไทย ทำงานบ่อนฝั่งเมียนมา ทยอยเดินทางกลับพบติดเชื้อ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายทหาร ได้ไปรับตัวพนักงานบ่อนออนไลน์ฝั่งประเทศเมียนมา จำนวน 14 คน ที่มาจากบ่อนคาสิโน จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา บริเวณตรงข้ามบ้านท่าอาจ ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก หลังจากที่ทางฝ่ายไทย ได้รับแจ้งว่า มีผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีความประสงค์ที่จะขอข้ามมารักษาเขตไทย หลังจากเจ้าหน้าที่ไปรับตัวแล้ว มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พบว่า มีไข้สูง จึงรีบนำตัวส่งที่โรงพยาบาลแม่สอดทันที จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบว่า ชาวไทยทั้ง 14 คน ติดเชื้อจริง
ขณะที่ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2564 ชาวไทยที่เป็นพนักงานบ่อนออนไลน์จากที่เดียวกัน จำนวน 40 คน ให้เจ้าหน้าที่ไทยไปรับตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบว่า ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 17 คน ส่วนที่เหลือส่งตัวไปกักยังสถานที่กักกันโรงพยาบาลแม่สอดทันที มีรายงานว่ายังมีคนไทยทำงานที่ดังกล่าวอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่คาดว่าจะทยอยเดินทางกลับมา
ระยอง ติดอีก 15 คน โยงโต๊ะสนุกเกอร์
นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วย ภก.วีระศักดิ์ เจียมอนุกูลกิจ รองสาธารณสุขจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.ระยอง เพิ่มขึ้น 15 คน รวมสะสมทั้งหมด 509 คน อ.เมือง ระยอง ยังเป็นพื้นที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทั้งนี้มีการตรวจหาเชื้อในเชิงรุกไปแล้วทั้งสิ้น 11,731 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 249 คน เสียชีวิต 1 ราย
ภก.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดพบมี 21 คน มีอาการปอดอักเสบ ส่วนที่เหลืออาการยังทรงอยู่
สำหรับผู้ป่วยที่พบใหม่ตรวจสอบมีความเชื่อมโยงโต๊ะสนุกเกอร์ใน อ.แกลง จ.ระยอง รวมแล้วมีถึง 9 คน ขณะที่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยังคงมาจากบ่อนพนันและกระจายไปตามกลุ่มต่างๆ ถือว่าเพิ่มขึ้น หลังยอดผู้ป่วยปรับลดเป็นเลขตัวเดียวมาเพียงสองวัน
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีพาสปอร์ต หรือ ลักลอบเข้าเมือง หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถขอเข้าตรวจหาเชื้อได้ฟรี โดยมีการยกเว้นดำเนินคดีชั่วคราว
กรณีการขออนุญาตเดินทางเข้าออกพื้นที่ 5 จังหวัดป้องกันสูงสุด สามารถขออนุญาตได้ที่โรงพักทุกแห่ง โดยให้ตำรวจประจำสถานีเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ได้
เร่งตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงจากโรงเบียร์ ที่ศรีราชา
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อที่โรงเบียร์ 90 ศรีราชา ซอยประปาศรีราชา ต.สุรศักดิ์ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 32 คน ทำให้มีคนกลุ่มเสี่ยงทยอยเข้ามาตรวจหาเชื้อกันอย่างต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อจำนวนดังกล่าว แยกเป็น
-พนักงานในร้าน 31 คน ติดตามพบแล้ว 29 คน ติดเชื้อ 13 คน
-นักดนตรี 1 คน
-นักเที่ยวอีก 18 คน