คดีการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในประเด็นจำนำข้าว ที่อดีตนายกฯ ได้โยงไปถึงการปรองดองจะไม่เกินขึ้นถ้ามีการเล่นเกมการเมือง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ มองว่า เป็นความเห็นของแต่ละฝ่าย หากมองตามกฎหมาย ถือว่าไม่ส่งผลต่อการปรองดองและเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนตัวไม่ขอออกความเห็น เพราะกระบวนการสร้างความปรองดองสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.มีคณะของนาย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ทำหน้าที่อยู่ เชื่อว่าจะสร้างความปรองดองได้มากขึ้น เพราะนายเอนกเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เชื่อว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือ
ส่วนความคืบหน้าของการยกร่างรัฐธรรม นายบวรศักดิ์ ยอมรับว่าไม่ง่ายนักที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งในวันจันทร์นี้ จะเริ่มยกร่างรายมาตราในหมวดทั่วไป โดยจะเปิดให้สื่อเข้าฟังได้ในบางมาตรา แต่จะไม่ให้บันทึกภาพผู้ที่กำลังอภิปราย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาภายหลัง
ส่วนประเด็นการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเสนอโดยภาคประชาชน จะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้การถอดถอนเป็นไป2 รูปแบบ คือ กรณีบุคคลผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ ให้ดำเนินการถอดถอนพ้นจากตำแหน่งและห้ามดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี ส่วนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม ก็มีสิทธิถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปีเช่นกัน โดยทั้งสองรูปแบบจะใช้วิธีการให้รัฐสภา คือทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรทำงานร่วมกัน จากอดีตที่วุฒิสภามีสิทธิถอดถอนอยู่ฝ่ายเดียว เพื่อความเป็นกลางมากขึ้น โดยต้องใช้เสียงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภา และหากรัฐสภามีมติไม่ถอดถอน ก็มีสิทธิส่งเรื่องไปให้ประชาชนเป็นผู้ลงชื่อถอดถอนได้ ซึ่งประชาชนจะมีสิทธิถอดถอนได้เฉพาะช่วงเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากระยะเวลาถอดถอนของรัฐสภากับประชาชนมีความเหลื่อมล้ำกัน บุคคลที่จะถูกถอดถอนต้องถูกขึ้นบัญชีไว้ เพื่อรอการตัดสินจากประชาชน โดยจะต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงจะถอดถอนได้ ซี่งบุคคลที่ถูกถอดถอนโดยประชาชนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม การถอดถอนรูปแบบใหม่จะไม่ส่งผลย้อนหลังกับคดีเก่า
ธีรวัฒน์