การประชุมระหว่างกระทรวงยุติธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามบุคคลที่ทำผิดมาตรา 112 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาในคดีมาตรา112 เบื้องต้นขณะนี้มีอยู่10ประเทศ และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน และประสานไปยังต่างประเทศเพื่อให้มีการติดตามผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากการติดตามตัวผู้ต้องหาจะต้องมีการประสานส่งเอกสารข้อมูลการขอหมายจับซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่า3-4วัน ทำให้งานป้องกันและปราบปรามไม่ทันโซเชียลมีเดีย ส่วนการหารือร่วมกับส่วนราชการทั้งหมดมารับทราบว่าที่ผ่านมาใครไปอยู่ในคณะกรรมการชุดใดบ้างเพื่อทบทวนการทำงาน จากนั้นจะให้แต่ละหน่วยงานได้ชี้แจงงานและปัญหาข้อขัดข้องในการเชื่อมโยงกัน เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการที่ไม่ครอบคลุม จึงเตรียมตั้งคณะกรรมการใหม่ทั้ง4ด้าน อาทิ เรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศ เรื่องการบังคับใช้กฏหมายในการปราบปราม การทำความเข้าใจทั้งภายในและภายนอก พร้อมเพิ่มช่องทางทางไอทีและช่องทางอื่นๆ ด้วยการตั้งอนุกรรมการเฝ้าติดตาม ได้มีการร่างคำสั่งคร่าวๆแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน2-3วันนี้ ก่อนจะส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม พลเอกไพบูลย์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมอีกครั้งแต่ยังไม่สามารถระบุวันเวลาได้แต่อยากให้มีการดำเนินการอย่างเร็วที่สุด
การประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วยังมี กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงกลาโหม ศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองทัพบก (ทบ.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ อัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อยกระดับการทำงาน จากเดิมที่เป็นการทำงานในระดับกรมหรือหน่วยงาน ซึ่งจะปรับใหม่และยกระดับการทำงาน เพื่อให้เห็นผลการทำงานที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และคดีที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการทั้งระบบในระดับรัฐบาลใน 4 ด้าน
CR:แฟ้มภาพ