*ปปช.แถลงเปิดคดี "ยิ่งลักษณ์" ไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าว อ้างอิงทีดีอาร์ไอ พบทุจริต*

09 มกราคม 2558, 11:34น.


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.  นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เริ่มดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าวฝ่ายกล่าวหา คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้แถลงเปิดสำนวน ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นผู้แถลงหลัก และมีผู้ติดตามร่วมแถลงชี้แจงข้อมูลในบางเรื่อง ซึ่งวันนี้มีผู้ติดตามรวม 8 คน ได้แก่ นาย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรักษานายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทีมทนายความนำโดยนายพิชิต ชื่นบาน และคณะอีก 3 คน



นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้เริ่มแถลงเปิดสำนวนในเวลา 10.20 น. โดยอ้างอิงการแถลงปิดบัญชีจำนำข้าวนาปีและนาปรังของกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2554/2555 2555/2556 ซึ่งมีผลขาดทุนร่วมหลายแสนล้านบาท รวมถึงอ้างอิงผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอเกี่ยวกับผลเสียของโครงการจำนำข้าว โดยที่ประชุมปปช.ได้ส่งปัญหาโครงการรับจำนำข้าวต่อรัฐบาลแล้ว  หลังพบว่า มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น แต่รัฐบาลตอบว่าไม่สามารถหยุดยั้งโครงการได้ เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญ นอกจากนี้ ในคดีนี้ยังมีผู้ร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากด้วย  ยืนยันว่า ปปช. ไม่ได้รวบรัดเร่งรีบ หรือใช้ 2 มาตรฐาน แต่เห็นว่ากรณีนี้มีความสำคัญที่สุด เพราะเรื่องข้าวเป็นลมหายใจของประเทศ ไทยเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของโลก 



ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ทุจริต แล้ว ป.ป.ช. ทำคดีถอดถอนได้อย่างไร ในส่วนของ ป.ป.ช. ทำคดีอย่างตรงไปตรงมาและอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าเหตุว่าส่อในทางทุจริต ซึ่งหมายถึงความประพฤติที่ไม่ชอบ ขัดต่อหลักคุณธรรมจริยธรรมด้วย ด้วยเหตุนี้ ป.ป.ช. จึงเสนอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อที่ประชุม สนช. ในวันนี้ ซึ่งพฤติกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ควรที่จะยับยั้งโครงการได้และไม่ยับยั้งจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่มีอำนาจหน้าที่ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว



ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา สำหรับ ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ในคดีรับจำนำข้าวนั้น ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจที่จะกระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ในการดำเนินนโยบายระบบรับจำนำสินค้า เกษตร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือก หอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ และต่อมา ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้รับผิดชอบดำรงตำแหน่งประธาน- คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติตามนโยบายนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายดังกล่าวสร้างปัญหาให้กับ ประเทศ เป็นการทำลายกลไกการซื้อขายตามปกติ มีการทุจริตทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในเรื่อง ความชื้น น้ำหนักข้าว การสวมสิทธิ์ ตลอดจนกระบวนการ ต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นนตอนการจัดเก็บดูแลรักษาข้าว ขั้ค่าขนส่งข้าว ค่าสีแปร ค่าตรวจคุณภาพข้าว ค่ารมควัน ค่าประกันภัยข้าว และอื่น ๆ และเมื่อมีการระบายข้าว ก็ปรากฏว่ามีขบวนการทุจริตกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว และพยายามกล่าวหาว่า มีการระบายข้าวแบบจีทูจีในหลายประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริง กลับพบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด



โดยขณะนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ อยู่ระหว่างเตรียมชี้แจง โดยมีการแจกเอกสารเพิ่มเติม1 ฉบับ 

ข่าวทั้งหมด

X