นิคมซัด ปปช.บิดเบือน ยืนยันทำตามข้อบังคับ นัดซักถาม 15ม.ค.
419
https://www.js100.com/en/site/news/view/9608
COPY
08 มกราคม 2558, 16:20น.
การแถลงเปิดคดีถอดถอน นาย นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประเด็นการแก้ไขที่มาของวุฒิสภา หรือส.ว. หลังจากที่นาย วิชา มหาคุณ ตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ได้กล่าวแถลงเปิดคดีแล้วนั้น ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ได้ให้นาย นิคม กล่าวแถลงเปิดคดี เพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาจากปปช.
โดย นาย นิคม ระบุว่า วันนี้มาต่อสู้ในฐานะผู้รักษากระบวนการทางยุติธรรม ส่วนตัวเห็นว่าเอกสารที่ปปช.ยื่นมามีข้อบิดเบือนอยู่มาก ซึ่งอาจทำให้สมาชิกสนช.เกิดความเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังระบุว่าในช่วงแรกตัวเองมีคดีถึง 4 คดีในสำนวนถอดถอน ทั้งการให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของวุฒิสภากับสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง การเสียบบัตรแทนกันของสมาชิก และการตัดสิทธิ์สมาชิกผู้อภิปราย 57 คน เป็นต้น แต่สุดท้ายทางปปช.ไม่ได้ชี้มูลความผิดในคดีดังกล่าว ทำให้คดีตกไป ตัวเองจึงเหลือสำนวนคดีเพียงคดีเดียว คือ การรีบรับญัตติเพื่อปิดประชุม ในประเด็นการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยไม่ให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเต็มที่ ทั้งที่ยังเหลือผู้อภิปรายจำนวนมาก รวมทั้งการรีบรับญัตติปิดประชุมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมพ.ศ.2550 ซึ่ง นาย นิคม แถลงว่า การปิดประชุมของตัวเองที่ทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภาในขณะนั้น เป็นการรับญัตติการปิดประชุมจากผู้เสนอ ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถทำได้ ส่วนการที่ไม่ได้ให้สมาชิกได้อภิปรายหรือยื่นญัตติแสดงความเห็นได้เต็มที่ทั้งที่เหลือกว่าร้อยคนนั้น นาย นิคม ระบุว่า สมาชิกที่ยื่นอภิปรายกว่าร้อยคน ได้ยื่นอภิปรายถึงที่มาของวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาตามม.11 ซึ่งม. 11 นั้นถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้การยื่นแปรญัตติดังกล่าวขัดต่อหลักการ และไม่สามารถทำได้ เนื่องจากที่ประชุมได้ลงมติให้ที่มาของวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง จึงถือว่าตัวเองทำตามกฎหมาย ไม่ได้ละเมิดหลักนิติธรรมและหาก ได้ดูวีดีทัศน์รวมทั้งเอกสารที่ตัวเองยื่นไปยังปปช.ก็จะพบว่าเป็นไปตามที่ตัวเองกล่าวไว้ทุกประการ
หลังจากนาย นิคม แถลงเสร็จแล้วนั้น นาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ขอมติต่อที่ประชุมเพื่อทำการยึดเวลาให้สมาชิกสนช.ส่งญัตติกับคณะกรรมาธิการซักถามได้ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 181 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ทำให้สมาชิกสนช.สามารถส่งญัตติต่อคณะกรรมาธิการซักถามได้ถึงวันที่ 12 มกราคม เวลา 12.00น. พร้อมทั้งที่ประชุมสนช.จัดตั้งคณะกรรมาธิการซักถามจำนวน 9 คน และได้กำหนดวันประชุมเพื่อเริ่มพิจารณาประเด็นซักถามอีกครั้งในวันที่ 15 มกราคม เวลา10.00น. รวมทั้งไม่เกินวันที่ 20 มกราคม คู่กรณีทั่งสองฝ่ายต้องส่งหนังสือแถลงปิดคดีมายังที่ประชุมด้วย
ข่าวทั้งหมด