ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2563

20 พฤศจิกายน 2563, 08:57น.


กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร-เภสัชภัณฑ์ ดาวรุ่งปี 2564



          สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเด่นที่ขยายตัวต่อเนื่องในปี 2564 จากปัจจัยด้านความต้องการในการรักษาโรค และความกังวลจากสถานการณ์โควิด-19  



-อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์และอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า ทั้งปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 17.5 เทียบปี 2562



-อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากการสำรองสินค้าทั้งตลาดในประเทศและส่งออก



          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารและเภสัชภัณฑ์จะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งปี 2564 ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ปรับรูปแบบการจัดการห่วงโซ่การผลิต มุ่งใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ลดการปล่อยมลภาวะและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว สนองต่อความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังขยายตัวอยู่ทั่วโลก

-อุตสาหกรรมถุงมือยาง ขยายตัวร้อยละ 23.2 จากความต้องการใช้ทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น



-อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่ใช้ในครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 1 เช่น ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน และเครื่องซักผ้า



-อุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ ปิโตรเลียมอุตสาหกรรมเหล็ก และเหล็กกล้า เริ่มฟื้นตัวตามปัจจัยการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการจ้างงานเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มดีขึ้น รวมถึงภาครัฐมีโครงการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ



สศอ.ชี้ 4 ปัจจัยทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว



          นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ ดังนี้



1.ใช้เทคโนโลยี ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้โดยตรง



2.ห่วงโซ่การผลิต นำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สามารถทำงานแทนคนได้เกือบทั้งหมด ทำให้หลายธุรกิจที่เดิมกระจายขั้นตอนการผลิตไปทั่วโลกย้ายกลับมาผลิตในภูมิภาคมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อไทยเนื่องจากเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่



3.ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม คาดว่าในอนาคตน้ำสะอาดเป็นสิ่งที่ขาดแคลน จึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน



4.แรงงาน จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอีก 15-20 ปีข้างหน้า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย คนวัยทำงานน้อยลง ส่งผลต่อโครงสร้างแรงงานเปลี่ยนไป ธุรกิจแบบเดิมต้องใช้แรงงานจำนวนมากอาจไม่เหมาะสม



สัปดาห์หน้า กัมพูชา ผ่อนคลายมาตรการ เปิดโรงเรียน -โรงหนัง-สถานบันเทิง



          นายกฯฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา สั่งการให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในทุกระดับชั้นให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการใช้ชีวิตตามวิถีนิว นอร์มอล พร้อมทั้งผ่อนคลายสถานที่ต่างๆรวมทั้งเรื่องการเรียนการสอนด้วย หลังสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐมนตรีฮังการีเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 กำลังจะสิ้นสุดลง



-ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23พ.ย.2563 เปิดเรียนตามปกติในพื้นที่กรุงพนมเปญและ จ.กันดาล นายกฯฮุนเซน อนุมัติคำร้องของกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้โรงเรียนทุกแห่งกลับมาทำการเรียนการสอนได้ตามปกติตั้งแต่สัปดาห์หน้า



-อนุญาตให้ประชาชนสามารถจัดพิธีแต่งงานได้



-เปิดสนามกีฬาแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิงอื่นๆ จะกลับมาดำเนินกิจการตามปกติในสัปดาห์หน้าเช่นกัน แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19อย่างเคร่งครัด หลังจากที่ร้านคาราโอเกะ สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ และพิพิธภัณฑ์ ทั่วประเทศปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2563 



ผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ ญี่ปุ่นผ่อนคลายมากเกินไป ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น



          เหตุผลที่ญี่ปุ่นกลับมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นและทำให้กรุงโตเกียวต้องประกาศยกระดับควบคุมสถานการณ์เป็นระดับสูงสุด คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขญี่ปุ่น วิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดและชี้ว่า การเตือนระดับสูงสุด หมายความว่า การติดเชื้อกำลังแพร่กระจาย ซึ่งเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นจากปัจจุบัน



-ญี่ปุ่นใช้มาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายมากกว่าหลายประเทศ แม้ในช่วงที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน



-เริ่มเปิดประเทศเพื่อเดินทางให้นักธุรกิจกับหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม



-ญี่ปุ่นยังไม่สามารถตรวจหาเชื้อในกลุ่มประชาชนจำนวนมากได้อย่างทั่วถึง เมื่อเทียบกับหลายประเทศทางตะวันตก



พรุ่งนี้ แคลิฟอร์เนีย ประกาศเคอร์ฟิว 1 เดือน สู้โควิด-19



          นายกาวิน นิวซอม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี ว่านับตั้งแต่วันเสาร์ที่ 21 พ.ย. นี้เป็นต้นไป ประชาชนใน 41 เขต จากทั้งหมด 58 เขตของรัฐแคลิฟอร์เนีย คิดเป็นประมาณ 40 ล้านคน จะไม่สามารถออกนอกเคหสถานได้ ระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 05.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อลดกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19



          มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 21 ธ.ค.2563 เป็นอย่างน้อย หมายความว่า สามารถขยายระยะเวลาได้อีกหากพบผู้ติดเชื้อรายวันและแนวโน้มในอนาคตยังไม่มีดีขึ้น



          รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐมีประชากรมากที่สุดในสหรัฐฯ ล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อกลางเดือนมี.ค.จากนั้นมีการผ่อนคลาย 2 ครั้ง ในเดือนพ.ค.และเดือนมิ.ย. ก่อนกลับมาล็อกดาวน์เป็นครั้งที่สองเมื่อกลางเดือนก.ค. จากนั้นผ่อนคลายเป็นระยะตามสถานการณ์



WHO เผยยุโรปล็อกดาวน์คุมโควิด-19 เริ่มเห็นผล



           นายแฮนส์ คลูก ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกสาขายุโรป กล่าวว่า ทวีปยุโรป กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้งแล้ว เช่นเดียวกับสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ทวีปยุโรปมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มากกว่า 29,000 ราย หรือ 1 คนในทุกๆ 17 วินาที แต่จำนวนการติดเชื้อเริ่มลดลงแล้ว หลังจากหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่เพื่อควบคุมการระบาด ส่วนชาติอื่นๆ อย่าง อิตาลี, สหราชอาณาจักร, สเปน และเยอรมนี ก็กำลังมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำลงเช่นกัน



          อย่างไรก็ตาม นายคลูก ย้ำว่า “มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่มันจะเป็น 6 เดือนที่ยากลำบาก” เขายังแสดงความกังวลเป็นพิเศษกับสถานการณ์ในสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ที่ห้องไอซียูเต็มไปแล้วกว่าร้อยละ 95



          นายคลูก กล่าวว่า ข่าวความคืบหน้าเรื่องวัคซีนในช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ตอนนี้วัคซีนยังไม่ใช่การปราบปรามไวรัสโคโรนา เพราะในช่วงแรกจะมีการจำกัด ทำให้ต้องปฎิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างและการสวมหน้ากากอนามัย เป็นวิธีป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสดีที่สุด



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X