ในช่วงเช้าวันนี้ ผู้ฟังจส. 100 แจ้งเหตุระหว่างขับรถพบเห็นหญิงอายุประมาณ 40-50 ปี ขับรถเก๋งฮอนด้า บริโอ้ สีน้ำเงิน ทะเบียน 1 กน-7018 กทม. ขับรถบีบแตรตลอดทาง บริเวณถนนราชวิถี ขาเข้า ช่วงแยกราชวิถี มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมทั้งยังเปิดกระจกตะโกนด่าทอคนอื่นไปทั่ว ลักษณะไม่ปกติ
ล่าสุด จส.100 ตรวจสอบพบว่า รถคันนี้ขาดการต่อภาษีมาตั้งแต่ปี 2558 หรือ 5 ปีที่แล้ว รวมทั้งก่อนหน้านี้ เคยมีประวัติก่อเหตุในลักษณะคล้ายกันนี้หลายครั้ง คือเมื่อเดือนกันยายนปีนี้ มีเหตุทะเลาะวิวาทบนถนนบางบัวทอง มุ่งหน้าแยกบางพูล หลังหญิงคนดังกล่าวขับรถเก๋งสีฟ้าด้วยความเร็วแล้วปาดหน้าด่าทอผู้ขับขี่รายอื่น ก่อนจะมาชนกับแกร็บไบค์ เมื่อก่อเหตุหญิงคนนี้ ยังลงมาจากรถแล้วบอกว่าเป็นนักแข่งรถตั้งแต่เด็ก รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในละแวกดังกล่าวต่างบอกว่า หญิงคนนี้ ได้ก่อเหตุในลักษณะเดียวกันบ่อยครั้ง ทั้งขับรถเร็วและด่าทอคนอื่น ซึ่งพอคนขับแกร็บไบค์ และเจ้าของรถที่ได้รับความเสียหายทราบ ก็ไม่ได้เอาเรื่องหรือแจ้งความดำเนินคดี
นอกจากนั้น เมื่อย้อนกลับไปในปี 2562 พบว่า หญิงคนนี้ก็เคยก่อเหตุเปิดกระจกออกมาด่าทอรถคันอื่นแบบไม่มีสาเหตุ จนมีคนถ่ายคลิปไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียมาแล้ว
พ.ต.อ.สิรภพ อนุศิริ ผู้กำกับการ สภ.บางบัวทอง เปิดเผยว่า หญิงรายนี้เป็นที่รู้จักของ สภ.บางบัวทอง เพราะมักจะมาแจ้งความดำเนินคดีกับเพื่อนบ้านหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้องเรียนเพื่อนบ้านส่งเสียงดัง หรือเหตุอื่นๆ แต่เมื่อตำรวจเชิญหญิงรายนี้มาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กลับไม่มา แต่กลับมาร้องเรียนว่า ตำรวจทำคดีล่าช้าในภายหลัง ตำรวจจึงได้แต่ทำตามขั้นตอน ขณะที่เพื่อนบ้าน หรือคู่กรณีก็ทราบดีว่าหญิงรายนี้เป็นอย่างไร จึงไม่ติดใจเอาความ
ก่อนหน้านี้ เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงคมนาคมเรื่องการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับภายใน 120 วัน หรือภายในประมาณวันที่ 20 ก.พ.2564 มีหลักสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.การออกใบรับรองแพทย์ประกอบการขอรับใบอนุญาตขับรถหรือขอใบขับขี่ โดยนายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เดิมกรมการขนส่งทางบก กำหนด 5 โรคต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับรถ คือ
1.โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่น่ารังเกียจแก่สังคม
2.โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ
3.โรคเรื้อน
4.โรคพิษสุราเรื้อรัง
5.โรคติดยาเสพติดให้โทษ
ขณะนี้กำลังหารือกับแพทยสภา เพื่อจัดทำรายละเอียดให้สอดรับกับกฏกระทรวง เพื่อกำหนดให้ใบรับรองแพทย์ ต้องแสดงว่าไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ หรือมีอาการผิดปกติทางจิต หรือมีโรคที่ไม่เหมาะสมกับการขับรถ เช่น โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคอารมณ์สองขั้ว ออทิสติก หรือตัวเตี้ยผิดปกติ 90 ซม. ซึ่งแพทย์ที่ต้องออกใบรับรองแพทย์ต้องเป็นผู้ประเมินสภาพทางด้านร่างกายของผู้ขอใบรับรองแพทย์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ซึ่งกรณีขอใบรับรองแพทย์นี้จะใช้กับรถทุกประเภทที่มารับใบขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และ รถโดยสารสาธารณะ