ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน 2563

05 พฤศจิกายน 2563, 07:42น.


'ทรัมป์'-'ไบเดน' ต่างอ้างชนะเลือกตั้งที่ รัฐเพนซิลเวเนีย



           ปัญหาการนับคะแนนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มี 2 รัฐที่มีปัญหาคือ รัฐจอร์เจีย มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง และรัฐเพนซิลเวเนีย มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 20 เสียง เนื่องจาก ผู้สมัครทั้งสองคนคือนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน อ้างว่าตัวเองชนะการเลือกตั้งในสองรัฐนี้ ทั้งที่ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่าให้นายไบเดน ชนะ



          ประเด็นที่ทำให้หลายคนสงสัย เนื่องจาก เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ตามเวลาในประเทศไทย นายทรัมป์ ออกมาแถลงที่ทำเนียบขาว ว่าชนะการเลือกตั้งหลายรัฐที่เป็นรัฐสวิงสเตท 1 ในนั้นคือ รัฐเพนซิลเวเนีย ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า ทีมงานหาเสียงให้ข้อมูลผิดพลาดหรือไม่ เพราะนายไบเดน ชนะการเลือกตั้งที่รัฐนี้



ญี่ปุ่น วางนโยบายง่ายกว่า ถ้า ‘ไบเดน’ เป็นผู้นำสหรัฐฯ



          การเลือกตั้งสหรัฐฯในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากญี่ปุ่นน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือเรื่องที่สำคัญที่สุด แม้แต่การแถลงนโยบายครั้งแรกของนายกฯ โยชิฮิเดะ สึกะ ให้เวลากับเรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 รวมทั้งบอกว่าจะรักษาความสัมพันธ์กับจีน และเกาหลีใต้ เป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญอย่างยิ่ง แทนที่จะพูดถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เหมือนผู้นำญี่ปุ่นคนก่อน ๆ



          พฤติกรรมของนายทรัมป์ ทำให้ญี่ปุ่นวางแผนนโยบายไม่ได้ และยังเสียประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากมาย ญี่ปุ่น ประเมินว่า นายไบเดน จะให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศและความสัมพันธ์พหุภาคี ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถปรับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านไปพร้อม ๆ กับการคานอำนาจจีน อย่างไม่หักหาญ เนื่องจาก นายไบเดน มองว่า จีนเป็น คู่แข่ง ไม่ใช่ ศัตรู นายไบเดนจะสร้างความเข้มแข็งกับพันธมิตรต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิก ยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งด้านความมั่นคง การค้า การพัฒนาเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร

          หากนายไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ญี่ปุ่นจะวางนโยบายได้ง่าย เพราะพรรคเดโมแครตมีค่านิยมที่เป็นแบบแผนชัดเจน ญี่ปุ่น จะขยายพันธมิตรได้มากกว่าพึ่งพิงสหรัฐฯ ชาติเดียว และไม่ต้องถูกบีบให้ต้องเผชิญหน้ากับจีนอีกด้วย



สมเด็จฮุน เซน นายกฯกัมพูชา กักตัวแล้ว หลังพบรมต.ฮังการีที่ติดเชื้อโควิด-19  



ผู้นำประเทศและรัฐมนตรีหลายประเทศเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือต้องกักตัว เนื่องจากใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ



-รัฐบาลฮังการี นำเครื่องบินมารับนายเปเตอร์ ซิยาร์โท รมว.ต่างประเทศและการค้าของฮังการี ที่ทราบผลว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เดินทางกลับประเทศแล้ว หลังจากที่ก่อนเดินทางมาที่ไทยผลการตรวจเป็นลบ เมื่อเดินทางมาถึงไทยได้มีการตรวจซ้ำสองรอบ ผลพบว่าติดเชื้อจึงแยกตัวไปรักษาที่ห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร



-สมเด็จฮุน เซน นายกฯกัมพูชา กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน หลังจากที่นายซิยาร์โท ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากก่อนที่จะเดินทางมาที่ไทยได้เดินทางเยือนกัมพูชาและได้เข้าพบสมเด็จฮุน เซน รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ พาณิชย์ และเกษตรของกัมพูชาด้วย สมเด็จฮุน เซน กล่าวว่า ผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ของตัวเขาและภรรยารวมทั้งคนใกล้ชิดรวม 18 คน ไม่พบการติดเชื้อ



-ฮังการี ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 นายกฯ วิกโตร์ โอร์บาน ของฮังการีแถลงว่า จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดขั้นใหม่เพื่อดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และให้โรงพยาบาลสามารถดูแลคนไข้ได้



-นายบอยโก โบริซอฟ นายกฯบัลแกเรีย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ติดเชื้อโควิด-19 และขณะนี้กำลังกักตัวอยู่ที่บ้าน เช่นเดียวกับ นายนิโคเลย์ แนนคอฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการพัฒนาภูมิภาคและโยธาธิการของบัลแกเรีย ยืนยันว่า มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก นายแนนคอฟ มีประวัติติดต่อใกล้ชิดกับนายโบริซอฟ รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร อาหาร และป่าไม้



-นายเมตต์ เฟร เดริกเซน นายกฯ เดนมาร์ก และคณะรัฐมนตรี 2 ใน 3 ของเดนมาร์ก ต้องเริ่มกักตัวตั้งแต่เมื่อวานนี้ หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตรวจโควิด-19 เป็นบวก และมีผู้ติดเชื้อโรคนี้ในเดนมาร์กเพิ่มมากขึ้น



-สถานการณ์ในฝรั่งเศส น่าห่วงติดเชื้อทุก 30 วินาที กระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส รายงานว่า ไวรัสโควิด-19 ยังลุกลามรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในกรุงปารีส เมืองหลวง แม้ทางการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว โดยอัตราเฉลี่ยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุก 30 วินาที และมีอัตราผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ยทุก 15 นาที หรือ 15 นาทีต่อ 1 คน พบผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 1,590,800 คน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมี 38,727 ราย ด้านสหพันธ์โรงพยาบาลแห่งชาติของฝรั่งเศส ออกแถลงการณ์ เรื่องเตรียมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากภูมิภาคโอต์-เดอ- ฟรองซ์ ทางเหนือสุดของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด และผู้ป่วยหนักตามโรงพยาบาลอีกหลายแห่งให้ไปรักษาที่เยอรมนี



-นายกฯจูเซปเป คอน เต ของอิตาลี ลงนามในคำสั่งเคอร์ฟิว ช่วงเวลา 22.00-05.00 น. ทั่วประเทศ เริ่มบังคับใช้ในวันพฤหัสบดีนี้ 5 พ.ย. 2563 ถึงวันที่ 3 ธ.ค.2563 เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นด้วย เช่น



-ปิดห้างสรรพสินค้าในช่วงสุดสัปดาห์



-20 แคว้นในอิตาลี จะใช้ระบบควบคุมโรคนี้ 3 ขั้นด้วยกัน โดยแบ่งเป็นสี ได้แก่ สีแดง, สีส้มและสีเขียว รัฐที่ระบุว่าสีแดงคือรัฐที่ต้องมีมาตรการควบคุมไวรัสโคโรนาเข้มงวดที่สุด  



         เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเหตุผู้ชุมนุมกลุ่มเล็กๆ ประท้วงมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 หลายเมืองในอิตาลีที่สั่งให้ปิดบาร์และภัตตาคาร การชุมนุมในบางเมืองลุกลามจนเกิดเหตุรุนแรง



 

ข่าวทั้งหมด

X