หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างนโยบายการกักกันโรคระดับชาติ (National Quarantine Policy)เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการกักตัวรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 จากเดิมที่ต้องพึ่งแต่ประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)หรือ ศบค.และเพื่อรองรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ครอบคลุม ตั้งแต่ระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด และเร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถเอาผิดได้กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ในการกักตัวเช่นโทษปรับ
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบเรื่องการลดระยะเวลากักตัว14 วันเหลือ 10 วัน โดยกรมควบคุมโรค จะมีการออกมาตรการและกฎเกณฑ์เพื่อให้รัดกุมและสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่าย โดยหลังจากครบ 10 วันแล้ว ช่วงเวลาที่เหลือเดิม 4 วัน จะต้องมีระบบติดตามตัวอย่างไร หรืออาจขอให้เคร่งครัดมาตรการระยะห่างทางสังคม เลี่ยงการเดินทางไปที่แออัดหรือชุมชน รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัย
สำหรับร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) รองรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ
1.จัดให้มีระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เหมาะสมกับบริบทของการปฏิบัติงานและกลุ่มเป้าหมายและเพียงพอทุกพื้นที่
2.พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
3.เร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น ยังได้กำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค10 ข้อ ทั้งด้านการจัดการสถานที่พัก พื้นที่ส่วนกลางและสถานที่เฉพาะ,มีผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอนครบตามจำนวนวันที่กำหนด,การคัดกรองการเจ็บป่วยหรือสงสัยติดโควิด-19,การจัดการสิ่งแวดล้อม, การบริการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต,การรวบรวม จัดเก็บข้อมูล,ระบบรายงานเหตุการณ์,การพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงาน,การตรวจประเมินสถานที่กักกันโรค และมีวิธีการตรวจสอบย้อนหลังเมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติ รวมทั้งมีการกำกับติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานทั้งในระดับชาติและพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ