วารสารเวชศาสตร์เขตร้อนและสุขอนามัยของอเมริกา (American Journal of Tropical Medicine and Hygiene) เผยแพร่ผลการวิจัยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ หนังสือพิมพ์ออนไลน์และเว็บไซต์อื่น ๆ ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ถึง 5 เมษายน 2563 โดยนักวิจัยจากสถาบันต่างๆในบังกลาเทศ ออสเตรเลีย ไทยและญี่ปุ่น ต่างรายงานว่ามีทั้งข้อมูลที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และข้อมูลที่เป็นเท็จจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
โดยคณะนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูล ข่าวสารใน 25 ภาษาจาก 87 ประเทศ จำนวน 2,311 รายงาน พบว่าร้อยละ 89 คือข่าวลือ เช่น "ไข่สัตว์ปีกปนเปื้อนโคโรนาไวรัส" และ "การดื่มสารฟอกขาวอาจฆ่าไวรัสได้"
ร้อยละ 7.8 คือการระบุว่าโควิด-19 คือทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งได้แก่ โควิด-19 "เป็นอาวุธชีวภาพที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ Bill & Melinda Gates เพื่อขายวัคซีนต่อไป"
และร้อยละ 3.5 คือ การใส่ร้าย เช่นการบอกว่า "โรคระบาดทุกโรคเกิดจากจีน"
โดยที่มาของข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมาจากอินเดีย, สหรัฐฯ, จีน, สเปน, อินโดนีเซีย และบราซิล
ผลการวิเคราะห์ยังพบว่า ร้อยละ 24 จะเกี่ยวกับความเจ็บป่วย, การเสียชีวิตและการแพร่ระบาด
ร้อยละ 21 จะเกี่ยวกับการควบคุมป้องกันโรค
ร้อยละ 19 เกี่ยวกับการการรักษา
ร้อยละ 15 เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคและแหล่งที่มาของไวรัส
ร้อยละ 1 เกี่ยวกับเหตุจลาจล
และร้อยละ 20 จะเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ
คณะผู้วิจัยระบุในรายงานว่า ข่าวลือต่างๆ เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งอาจมีผลกระทบร้ายแรงหากได้รับความเชื่อถือว่าเป็นความจริง ตัวอย่างเช่นข่าวลือที่ว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูงสามารถฆ่าเชื้อในร่างกายและฆ่าไวรัสได้กำลังแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 800 รายขณะที่อีกเกือบ 6,000 คนมีอาการเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีอีก 60 คนที่ตาบอดสนิทหลังจากดื่มเมทานอล
...