นายกฯ เลบานอนลาออก เหตุระเบิดที่ท่าเรือกรุงเบรุต
นายกรัฐมนตรีฮัสซัน ดิอับ แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเลบานอน หลังอยู่ในตำแหน่งได้ประมาณ 7 เดือนเท่านั้น โดยกล่าวว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นและการแย่งชิงอำนาจระหว่างขั้วการเมืองในเลบานอนที่อยู่บนพื้นฐานความแตกต่างกันทั้งในด้านเชื้อชาติและศาสนามีความรุนแรงมากทำให้ไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้ การลาออกของนายดิอับ ทำให้รัฐมนตรีทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีหลายคนลาออกไปแล้วแสดงความรับผิดชอบเหตุระเบิดที่ท่าเรือกรุงเบรุต
นายดิอับ กล่าวว่า ได้ทำตามความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องหาผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง
ประธานาธิบดีมิเชล อาอูน จะต้องปรึกษาหารือกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ในสภาเพื่อพิจารณาหานายกฯคนใหม่ โดยจะเสนอชื่อบุคคลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภามากที่สุด แม้ว่า นายดิอับจะลาออกจากตำแหน่ง แต่ก็ยังมีชาวเลบานอน ออกมาชุมนุมประท้วง ผู้ประท้วงหลายคน กล่าวถึง การลาออกของนายดิอับว่า ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง คือ ระบบ ไม่ใช่ตัวบุคคล
ปธ.กมธ.เร่งสอบข้อเท็จจริง อนุฯกมธ.เรียกเงินอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแลกกับการผ่านงบฯ
กรณีนายศักดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แฉกลางวงประชุมอนุกรรมาธิการแผนบูรณาการ 2 ชุดคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ว่ามีอนุกรรมาธิการฯบางคนโทรศัพท์เรียกเงิน 5,000,000 บาทแลกกับการผ่านงบประมาณ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการให้นายศักดิ์ดา รายงานข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหนังสือรายงานลับส่งมาให้พิจารณา เพื่อส่งไปให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง และถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต้องการตรวจสอบเพิ่มเติม กระทรวง ทส.ก็ยินดี เพื่อความโปร่งใสให้กับข้าราชการประจำและผู้ที่ถูกตรวจสอบด้วย
งบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กว่า 30,000 ล้านบาทเศษ ถูกตัดงบออกไปประมาน 600 ล้านบาท ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขออนุมัติงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2563 ใช้งบได้ตามเป้าหมายไปแล้วกว่าร้อยละ70
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กล่าวว่า จะเรียกอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าวเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงก่อนพิจารณาว่าจะมีการตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้หรือไม่ รวมถึงจะเรียกทุกชุดสอบ คณะอนุกรรมาธิการไม่มีอำนาจตัดลดงบประมาณ มีเพียงหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณของแต่ละหน่วยงานเพื่อเสนอกรรมาธิการงบประมาณฯ ชุดใหญ่เท่านั้น จะเริ่มปรับลดงบประมาณในช่วงปลายเดือนส.ค. การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการงบประมาณชุดใหญ่ เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายร่วมกันแสดงความคิดเห็นและมีการถ่ายทอดสดการประชุมทุกครั้ง มั่นใจว่าโปร่งใส
ไทย ลุ้น 6 เดือน ได้ใช้วัคซีนสกัดไวรัสโควิด-19
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ความคืบหน้าการศึกษาพัฒนาวัคซีนป้องกันติดเชื้อไวรัสโควิด-19
-ทดสอบในคนระยะที่ 2 แล้ว 12 ชนิด
-ทดสอบในคนระยะที่ 3 เพื่อดูประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการป้องกันโรครวมถึงพิสูจน์ความปลอดภัยแล้ว 7 ชนิด
ในการทดลองระยะนี้ตั้งเป้าว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคได้ 50% นาน 6 เดือน หลังรับวัคซีน โดยวัคซีนทั้ง 7 ตัวนี้ มีทั้งวัคซีนชนิดเชื้อตายและวัคซีนชนิด mRNA คาดว่า จะมีวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งใน 7 ตัวนี้สำเร็จ ออกมาใช้ในวงกว้างได้เร็วที่สุดคือ 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ มีวัคซีน 1 ชนิดของจีนที่ได้รับอนุญาตฉีดในคน คือ ในกองทัพแล้ว ทั้งที่ยังไม่ผ่านการทดลองในคนระยะที่ 3
กระทรวงสาธารณสุขไทย พยายามเต็มที่ในการจัดหาวัคซีนมาใช้ให้ได้มากที่สุด ระหว่างนี้เราควรทำคือ เตรียมความพร้อมระดับบุคคล องค์กร โดยสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ คนป่วยไม่ควรออกจากบ้าน โดยเฉพาะช่วงนี้หน้าฝน เป็นฤดูที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด ดังนั้น การคัดกรองเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ปิดมีโอกาสแพร่เชื้อได้มากกว่าพื้นที่เปิดถึง 19 เท่า ขอให้ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย
ส่วนที่แรงงานต่างด้าวต้องการกลับเข้ามาทำงานในไทย นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ถ้ามองสภาพความเป็นจริงเศรษฐกิจไทยตอนนี้ยังไม่ดี คิดว่าแรงงานที่จะกลับเข้ามาอาจจะไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ประกอบการที่ยังจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวควรมีการจัดและส่งให้ทางการประเมินสถานที่กักกันขององค์กรซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสถานประกอบการใดยื่นขอรับการประเมินเข้ามา
กรณีสื่อญี่ปุ่น รายงานว่ามีชายญี่ปุ่นอายุ 40 ปี ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศไทยถึงญี่ปุ่นวันที่ 8 ส.ค. รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอข้อมูลกับทางการญี่ปุ่น