'แอมโมเนียมไนเตรต'จากปุ๋ยสู่วัตถุระเบิด

05 สิงหาคม 2563, 16:07น.


          นับเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับโศกนาฏกรรมที่กรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 ตามเวลาท้องถิ่นของเลบานอน เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณท่าเรือซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 4,000 คน ซึ่ง นายฮัสซัน ดิอับ (Hassan Diab) นายกรัฐมนตรีเลบานอน ชี้แจงว่าเหตุที่เกิดขึ้นมาจากสารแอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate) ที่เก็บสะสมมาต่อเนื่อง 6 ปี น้ำหนักรวมกันถึง 2,750 ตัน ในอาคารที่ไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัย



         ด้วยความที่เป็นวัตถุอันตราย หลายประเทศจึงมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด อาทิ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เติมแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) เพื่อให้กลายเป็น แคลเซียมแอมโมเนียมไนเตรต (Calcium Ammonium Nitrate) ซึ่งปลอดภัยกว่า ขณะที่สหรัฐฯ กำหนดให้โรงงานที่เก็บสารแอมโนเนียมไนเตรต ตั้งแต่ 2,000 ปอนด์ หรือ 900 กิโลกรัมขึ้นไป อาจถูกทางการเข้าตรวจสอบ เป็นต้น



          สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารแอมโมเนียมไนเตรตหลายฉบับ อาทิ “ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530” ในหมวด 2.3 สารเคมีและสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด ลำดับที่ 4 เลขที่ 6484-52-2 (ยกเว้นปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยเคมี หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่วัตถุระเบิด แต่มีแอมโมเนียมไนเตรตเป็นส่วนผสม)



          ซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม , การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตก็ได้ , การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 42 ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน50,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



          ปัจจุบันไม่มีการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรตแล้ว เนื่องจากมีประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง ยกเลิกการควบคุมแอมโมเนียมไนเตรต เป็นปุ๋ยเคมีตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ออกมา โดยในข้อ 4 ระบุว่า แอมโมเนียมไนเตรต หมายถึง สารแอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium nitrate) หรือปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรต สูตร 34-0-0 หรือแอมโมเนียมไนเตรตที่นิยมเรียกหลายชื่อในทางการค้าอื่นใด แต่มีสูตรหรือคุณสมบัติทางเคมีอย่างเดียวกับปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรต



          และข้อ 5 ระบุว่า ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียนแอมโมเนียมไนเตรตเป็นปุ๋ยเคมี ยกเว้นปุ๋ยเชิงประกอบและปุ๋ยเชิงผสมที่มีแอมโมเนียมไนเตรตเป็นวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยเคมีอยู่ด้วย เนื่องจากแอมโมเนียมไนเตรตนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมทางเคมี และถูกกำหนดเป็นยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตต่อกระทรวงกลาโหมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530



            ระเบิดเกิดขึ้นจากสารแอมโนเนียมไนเตรตระเบิด ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้น เว็บไซต์ นสพ.Daily Mail ของอังกฤษ เสนอรายงานพิเศษ “Ammonium nitrate: fertilizer behind many industrial accidents” ยกตัวอย่างหลายเหตุการณ์ อาทิ โรงงานผลิตสารเคมีในเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2544 มีผู้เสียชีวิต 31ราย,โรงงานผลิตปุ๋ยในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิต 15 ราย



          ส่วนในประเทศไทย เคยเกิดเหตุระเบิดย้อนกลับไปในปี 1994 หรือ พ.ศ. 2537 หวิดเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่กลางกรุง เมื่อคนร้ายใช้รถบรรทุก 6 ล้อเล็กบรรทุกแท็งก์น้ำเหล็ก โดยภายในเต็มไปด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตคลุกเคล้ากับน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นส่วนประกอบระเบิด ขับมุ่งหน้าไปทางสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย แต่เผอิญว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวเกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์บริเวณใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ห่างจากสถานทูตอิสราเอลราว 0.8 กิโลเมตรก่อนทำให้คนร้ายต้องรีบหนีจากที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมจึงไม่เกิดขึ้น



          การตรวจค้นรถบรรทุกอย่างละเอียดทำให้ตำรวจถึงกับตะลึง เมื่อพบแอมโมเนียมไนเตรตคลุกเคล้าน้ำมันดีเซลน้ำหนัก 1 ตัน  และยังมีระเบิดซีโฟร์ในขวดน้ำอัดลมขนาด 2 ลิตร หนัก 2 ปอนด์ หรือเกือบ 1 กิโลกรัม จำนวน 2 ลูก ภายในมีเชื้อปะทุไฟฟ้า 10 ดอก รวมถึงดินระเบิดซีโฟร์ขนาด 1/4 ปอนด์อีก 5 ลูก มีเชื้อปะทุภายในรวม 6 ดอก ซึ่งหากระเบิดจะมีอานุภาพทำลายร้างในรัศมี 1-2 กิโลเมตร นับเป็นการพบระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของไทย นอกจากนี้ ยังพบศพคนขับรถบรรทุกของบริษัทถูกฆ่าหมกอยู่ในแท็งก์น้ำโดยใช้แอมโมเนียมไนเตรตกลบทับไว้ด้วย ไม่กี่วันถัดมา ผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลได้เดินทางมาตรวจสอบ และประเมินว่าระเบิดคาร์บอมบ์นี้น่าจะมีรัศมีการทำลายล้างสูงถึง 7 กิโลเมตร



          ที่น่าสังเกตก็คือ สูตรการผลิตระเบิดที่ใช้ในครั้งนี้เป็นสูตรเดียวกับที่คนร้ายใช้ในการก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดในเมืองแมนฮัตตันของสหรัฐฯ และการตรวจสอบประวัติคนร้ายที่ลงมือในไทยยังพบว่า หนึ่งในนั้นคือ นายแรมซี ยูซุฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามผู้ก่อการร้ายที่อิหร่านหนุนหลังผู้ลงมือระเบิดตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 1993 และยังลอยนวลอยู่ในขณะนั้น

ข่าวทั้งหมด

X