จุฬาฯ เผยการทดสอบวัคซีน COVID-19 มีความคืบหน้า รอการรับรองความปลอดภัยเพื่อทดสอบในคนต่อไป

12 กรกฎาคม 2563, 10:20น.


          โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว ระบุว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 (COVID-19 CUCov19 mRNA vaccine) มีความก้าวหน้าไปมาก หลังการทดสอบในลิงได้ผลดี และเตรียมทดสอบในมนุษย์ต่อไป          ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัฒนสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การป้องกันที่ดีที่สุดคือวิธีการที่ดีที่สุด ดีกว่าการรักษา ทีมนักวิจัยมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีการพัฒนาและทดสอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า CU-Cov19 ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี           ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การพัฒนาวัคซีนได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคกองทุนวิจัยวัคซีน ในการพัฒนาวัคซีน CU-Cov19 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ที่จะเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยในการทดสอบกับลิงที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติพบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียง ดังนั้น ในสัปดาห์หน้าจะเลือกวัคซีนที่มีผลการทดสอบที่ดีที่สุดเข้าสู่การผลิตเพื่อใช้ในการวิจัย โดยจะมีโรงงาน 2 แห่งในต่างประเทศเป็นผู้ผลิต ซึ่งคาดว่าในขั้นตอนนี้จะเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน และเริ่มการทดสอบในอาสาสมัคร 3 ระยะ โดยย้ำว่ายังไม่มีการเปิดรับอาสาสมัครในเวลานี้ เพราะวัคซีนจะต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมของคณะกรรมการแพทย์ศาสตร์ก่อน          อย่างไรก็ตาม การทดสอบในระยะที่ 3 จะต้องใช้กลุ่มอาสาสมัครจำนวนมาก ขณะที่ในปัจจุบันผู้ป่วยใหม่ในประเทศไทยเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศวันละประมาณ 3-15 คน การทดสอบในระยะที่ 3 จึงอาจต้องเป็นการทดสอบในต่างประเทศที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ประกอบกับการที่ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA โดยวัคซีนที่พัฒนาในสหรัฐฯ และยุโรป มีความคืบหน้าไปมาก และอาจได้รับการรับรองก่อนไทยประมาณ 6 เดือน จึงอาจไม่ต้องมีการทดสอบในระยะที่ 3 และคาดว่าไทยจะมีวัคซีนใช้ในช่วงประมาณปลายปีหน้า



...

ข่าวทั้งหมด

X