แผนรองรับปริมาณน้ำฝนในปี 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ ได้อนุมัติงบกลางฉุกเฉิน 506.67 ล้านบาทให้กับ 3 หน่วยงานที่ดูแลจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนปีนี้ รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงจากฝนที่ตกลงมาจะทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนวงกว้างและการสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมชลประทาน, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) และกรุงเทพมหานคร(กทม.) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การอนุมัติงบฉุกเฉินครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดผลกระทบกับประชาชนและวงเงินนี้เป็นการอนุมัติเพื่อหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการ เมื่อได้รับการจัดสรรแล้ว ต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของแผนงานโครงการอย่างเคร่งครัดและเร่งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แบ่งเป็น
โครงการของกรมชลประทาน ได้แก่
-โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง
-แผนงานขุดลอกคลองสายหลักและคลองสาขาในกรุงเทพฯ พื้นที่หนองจอก 3 คลอง รวม 6 โครงการ
-แผนงานกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมความพร้อมการเร่งระบายน้ำหลากในช่วงฤดูฝน จำนวน 215 แห่ง
ส่วนโครงการของสทนช. ได้แก่
-การจัดทำแบบจำลองทางกายภาพลุ่มน้ำเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 17 ลุ่มน้ำ
-ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด (76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คณะ คณะละ 6 ครั้ง) และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด (76 จังหวัด จังหวัดละ 2 คณะ คณะละ 6 ครั้ง)
สำหรับโครงการของกรุงเทพมหานคร เน้นการขุดลอกคูคลองเพื่อรองรับน้ำฝน
-แผนการดำเนินการขุดลอกคลองหลัก 7 คลอง และคลองสาขา 53 คลอง ในกรุงเทพฯ พื้นที่หนองจอก รวม 60 โครงการ
นอกจากนั้น ที่ประชุมครม.ยังอนุมัติงบประมาณ 1,880 ล้านบาท ให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและรองรับการเจริญเติบโตในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนงานโครงการ 4 ปี ของปีงบประมาณ 2564-2567 แบ่งเป็น
-ค่าก่อสร้าง จำนวน 680 ล้านบาท
-ค่าชดเชยที่ดินให้เกษตรกร จำนวน 1,200 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 6,400 ไร่ เป็นพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งหมด
ครม.ยังรับทราบในหลักการอีก 2 โครงการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากจำนวนประชากรและการพัฒนาในด้านต่างๆที่เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงความเสี่ยงขาดแคลนทางด้านการเกษตร ได้แก่
-อ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง ความจุ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร
-อ่างเก็บน้ำคลองกะพง ความจุ 27.5 ล้านลูกบาศก์เมตร
แฟ้มภาพ