ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น. วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2563

06 กรกฎาคม 2563, 09:50น.


รองนายก.ย้ำดูแลความมั่นคง ควบคู่กับโรคโควิด-19



          พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับฝ่ายความมั่นคง ทั้งฝ่ายปกครอง ทหารและตำรวจ ร่วมกันดูแลความมั่นคงปลอดภัยของสังคมควบคู่ไปกับการกำกับควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการทางสาธารณสุขที่กำหนด ตลอดช่วงวันหยุดยาวในช่วงเดือนนี้ ย้ำการคุมเข้มงานข่าวกับกลุ่มเสี่ยงเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด อาวุธสงครามและกลุ่มแนวคิดใช้ความรุนแรงที่แฝงตัวในพื้นที่ โดยให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมของแผนและการปฏิบัติร่วมกันในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะระดับจังหวัดและอำเภอ



          พล.อ.ประวิตร ขอให้ฝ่ายความมั่นคง ประสานกับกระทรวงคมนาคมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันอำนวยความสะดวกการจราจรและดูแลความปลอดภัยการเดินทางของประชาชนจำนวนมากในช่วงวันหยุดยาวให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน



          พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุถึงกรณีที่รัฐบาลอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย ตามการผ่อนปรนของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ด้วยการมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมหน่วยร่วมปฏิบัติทุกภาคส่วน ยังคงมาตรการเข้มข้น ในกระบวนการคัดกรองและกักกันคนไทย หรือ บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศ ตามมาตรการและแนวทางที่กรมควบคุมโรคกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด



สธ.ยัน ศบค.เปิดเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติ ปลอดโควิด-19 เข้ามารักษาในไทย



          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.มีมติเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ออกมาตรการให้คนที่ไม่มีสัญชาติไทย เข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยได้ เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศตามนโยบายเมดิคัลฮับ (Medical Hub)  โดยในเฟสแรกต้องเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติรักษาต่อเนื่องกับสถานพยาบาลในไทยอยู่เดิม ไม่ใช่กรณีเข้ามาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าเท่านั้น รับเฉพาะที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ จำกัดจำนวนผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน  



-หลักเกณฑ์ที่สำคัญ  คือทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องแสดงใบรับรองแพทย์ ยืนยันว่า ไม่มีเชื้อโรคโควิด-19



-เมื่อเดินทางมาถึงและอยู่ในช่วงการรักษาต้องตรวจแบบ RT-PCR ตรวจจากสารคัดหลั่งทางพันธุกรรม ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7ของการรักษา และครั้งที่  3 ระหว่างวันที่ 13-14 ของระยะเวลาที่กักกัน



-เมื่อเดินทางเข้ามาแล้ว ต้องกักกันตัวในห้อง Isolation ward (ห้องเดี่ยว) ในสถานพยาบาลเดียวกัน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน



-ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 ต้องมีเอกสารหลักฐานทางการเงินที่แสดงถึงหลักประกันว่าสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกิดขึ้นทั้งหมดเอง และมีเอกสารรับรองหรือใบนัดหมายการรักษากับสถานพยาบาลในไทย 



-หากแผนการรักษาเสร็จสิ้นก่อน 14 วัน  สถานพยาบาลต้องกักกันตัวผู้ป่วยและผู้ติดตามต่อจนครบ 14 วัน  และตรวจยืนยันว่าไม่มีโรคโควิด-19 จึงจะอนุญาตให้ออกจากสถานพยาบาลได้ และอาจอนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวไปในพื้นที่ท่องเที่ยวที่กำหนดได้



-ตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องดาวน์โหลดระบบติดตามตัวหรือติดตั้งแอปพลิเคชันตามที่ราชการกำหนด เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการทุกวัน กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าตลอดระยะเวลาการรักษาพยาบาล กลุ่มผู้ป่วยและผู้ติดตามไม่สามารถออกนอกสถานที่กักกันได้ จนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันและควบคุมโรค หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงพยาบาลทางเลือก หรือ Alternative Hospital Quarantine (AHQ) ซึ่งเป็นสถานที่กักกันตัว สามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.hss.moph.go.th  และ สอบถามได้ที่สายด่วนกรม สบส.1426



แฟ้มภาพ 



สุวรรณภูมิ ตั้งห้องแล็บตรวจเชื้อโควิด-19 ที่สนามบิน



          ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกระทรวงสาธารณสุข ตั้งห้องปฏิบัติการ หรือแล็บ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยตรวจจากสารคัดหลั่งทางพันธุกรรม หรือ PCR ซึ่งระบบดังกล่าวปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแม่นยำถึงร้อยละ 95 และทราบผลภายใน 90 นาที หรือไม่เกิน 2 ชั่วโมง นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บอกว่า การตรวจดังกล่าวรองรับการผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาประเทศไทย ตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดตั้ง PCR 14 เครื่อง สามารถทำการตรวจสูงสุด 28 คนต่อชั่วโมง ไม่เกิน 200 คนต่อวัน โดยมีพื้นที่บริเวณประตูทางเข้า GATE D3 และ D4  เพื่อเป็นห้องพักคอยของผู้โดยสารที่รอผลตรวจ



          การตรวจระบบ PCR ผู้ประสงค์จะเดินทางประสานผ่านเอเจนซี่ จะต้องรับภาระค่าตรวจรายละ 3,000 บาท ยกเว้นเจ้าหน้าที่การทูต เมื่อตรวจคัดกรองแล้ว บุคคลเหล่านี้ไม่ต้องกักตัว 14 วันใน State Quarantine แต่การเดินทางไปที่ต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประกบติดตามไปด้วย ซึ่งการนำมาตรการ PCR มาใช้ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นในการผ่อนคลายที่จะทำให้การเดินทางเข้ามาประเทศไทย ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น นำไปสู่การเดินทางมากขึ้นในอนาคต



โพลกว่า 52% กังวลโควิด-19 ลดลง

           สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,109 คน ผ่านทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค. ประเด็น “การใช้ชีวิตของประชาชน หลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19” พบว่า -ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.93 มีความกังวลลดลง รองลงมาร้อยละ 29.94 กังวลเหมือนเดิม และร้อยละ 12.44 ไม่กังวล ขณะที่ร้อยละ 4.69 กังวลมากขึ้น



-ความคาดหวังของกลุ่มตัวอย่างต้องการให้โรคโควิด-19 ของไทย เข้าสู่สถานการณ์ปกติเมื่อใด ร้อยละ 39.40 ระบุภายในสิ้นปี 2563 นี้ ร้อยละ 27.95 ระบุ กลางปี 2564 ร้อยละ 23.90 ปลายปี 2564 และร้อยละ 8.75 ไม่แน่ใจ คาดเดายาก/อาจดีขึ้นเมื่อค้นพบวัคซีน 



-ประชาชนมีส่วนช่วยควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง กลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 94.77 ระบุว่าสวมหน้ากากอนามัย รองลงมาร้อยละ 88.19 ล้างมือบ่อยๆ  ร้อยละ 81.24 เว้นระยะห่างทางสังคม ร้อยละ 79.80 ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และร้อยละ 76.92 ไม่ไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก



-ประชาชนมีข้อเสนอแนะว่า หลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการฟื้นฟูอย่างไรบ้าง อันดับ 1 มากถึงร้อยละ 77.55 ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเข้มงวด อันดับ 2 ร้อยละ 71.78 มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง อันดับ 3 ร้อยละ 69.43 เน้นสร้างงาน สร้างอาชีพ อันดับ 4 ร้อยละ 65.64 ช่วยเหลือคนตกงาน และอันดับ 5 ร้อยละ 57.26 ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X