สธ.ตั้งความหวังศึกษาภูมิคุ้มกันจากพลาสมา ผู้หายป่วยโควิด-19 ได้เร็วกว่าผลิตวัคซีน

03 กรกฎาคม 2563, 15:23น.


            การพัฒนาภูมิคุ้มกันที่ได้จากผู้หายป่วยจากโควิด-19 ผ่านโครงการรับบริจาคเลือดหรือ/พลาสมา ของผู้ป่วยโควิด-19ในโครงการวิจัยฮีโร่โควิด-19 นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันที่ได้จากผู้หายป่วยจากโควิด-19 เป็นอีกองค์ความรู้หนึ่งที่ทางการแพทย์ใช้ป้องกันการติดเชื้อโรค นอกเหนือจากการได้รับวัคซีน โดยวิธีการนั้นจะขอรับบริจาคเลือด/พลาสมาของผู้หายป่วยและผู้ที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณคนละ 30 ซี.ซี.



          สำหรับการวิจัยครั้งนี้จะมีระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน เพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันดังกล่าวมีความคงทนมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่าจะรู้ผลได้เร็วกว่าการผลิตวัคซีน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลองระยะที่สอง และจะเริ่มทดลองในคนราวปลายปีนี้



          นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกันเกือบ 39 วันแล้ว จะถือว่ามีความปลอดภัยมากก็ตาม แต่ยังไม่ควรประมาท เพราะอาจเกิดการลักลอบเข้าประเทศจากแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน  เรายังคงต้องอยู่กับโรคนี้อีกเป็นปี จนกว่าจะมีวัคซีน อาจจะเป็นปลายปีหน้า เพราะขณะนี้เพิ่งอยู่ในขั้นทดลองในสัตว์



          ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในการศึกษาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ว่า ได้รับรายงานว่า ผลการทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองเป็นไปในทิศทางบวก เกิดภูมิต้านทานในสัตว์ทดลอง โดยเฉพาะหนู ขณะที่ลิง มีภูมิต้านทาน แต่น้อยกว่า ทางผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ



          กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมความพร้อม หากมีความสำเร็จในการผลิตวัคซีน ต้องสามารถขึ้นทะเบียนได้เลย มองว่า การสนับสนุนเต็มที่นั้น อาจต้องใช้เงินมาก แต่หากประสบความสำเร็จ ไทยมีวัคซีน เป็นของตัวเอง ก็ย่อมคุ้มค่า ยืนยันว่า การใช้งบประมาณต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ



 



แฟ้มภาพ



 

ข่าวทั้งหมด

X