ทันสถานการณ์โลก 06.30 น.วันพุธที่ 1กรกฎาคม 2563

01 กรกฎาคม 2563, 06:28น.


"แคร์รี แลม" กร้าวไม่กลัวสหรัฐฯคว่ำบาตรทางการค้า



          หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับฮ่องกง รวมถึงการยกเว้นใบอนุญาตส่งออก โดยใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จีนบังคับใช้ในฮ่องกงเป็นข้ออ้าง นางแคร์รี แลม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โต้ตอบการที่สหรัฐฯ ยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกง โดยกล่าวว่า ฮ่องกง ไม่กังวลการที่สหรัฐฯคว่ำบาตร และพร้อมรับมือกับการกระทำของสหรัฐฯ ประเมินว่ามาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯทำให้เกิดความไม่สะดวกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากรัฐบาลกลางจีน ดำเนินมาตรการตอบโต้ รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับจีนอย่างเต็มที่ สหรัฐฯได้ประโยชน์จากการเกินดุลการค้ากับฮ่องกงมากที่สุดในบรรดาคู่ค้าทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าราว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือปีละประมาณ 926,000 ล้านบาท



พิษโควิด! แอร์บัส ลดคนงานทั่วโลก 15,000 อัตรา - แอร์ฟรานซ์ ลดพนักงาน 6,500 อัตรา



          แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติยุโรป มีแผนปรับลดพนักงานลงราว 15,000 อัตราทั่วโลก หรือประมาณร้อยละ 11 ของคนงานทั้งหมด ในช่วงหน้าร้อนปีหน้า เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็น วิกฤตเลวร้ายที่สุด เท่าที่อุตสาหกรรมการบินเคยเผชิญมา หลังจากธุรกิจการบินพาณิชย์หดตัวลงเกือบร้อยละ 40 ซีอีโอของบริษัท ระบุว่า เตรียมหารือกับสหภาพแรงงาน การลดจำนวนพนักงานรวมถึงการลาออกโดยสมัครใจ  การเกษียณก่อนกำหนดและโครงการงดจ้างงานบางส่วนในระยะยาว คาดหมายว่าการสัญจรทางอากาศคงยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 จนถึงปี 2023 และอาจจะยาวนานจนถึงปี 2025



           พนักงานที่จะถูกปรับออก เป็นการปรับลดพนักงานในฝรั่งเศส 5,000 อัตรา ในเยอรมนี  5,100 อัตรา ในอังกฤษ 1,700 อัตรา  ประเทศอื่นๆ อีก 1,300 อัตรา และในสเปน 900 อัตรา



          ในช่วง 2 ปีข้างหน้า แอร์ฟรานซ์ สายการบินของฝรั่งเศส จะปรับลดพนักงาน 6,500 อัตรา รวมถึงนักบิน พนักงานภาคพื้นและพนักงานต้อนรับบนเที่ยวบิน หรือไม่ถึงร้อยละ 15 ของพนักงานทั้งหมด เพื่อปรับลดขนาดองค์กร และยกเลิกเส้นทางการบินภายในประเทศที่ขาดทุน ในวันที่ 3 ก.ค.คาดว่าจะหารือและตกลงกับสหภาพแรงงานได้



          บริติช แอร์เวย์ส มีแผนลดพนักงาน 12,000 อัตรา และอีซีย์เจ็ต แถลงจะปรับลดพนักงาน 4,500 อัตรา หรือราวร้อยละ 30 ขณะที่ลุฟต์ฮันซา กรุ๊ป ก็กำลังจะปรับลดพนักงานประจำถึง 22,000 อัตรา หรือราวร้อยละ 16



สหรัฐฯมาผิดทาง! ดร.เฟาซี กังวลอาจติดเชื้อพุ่งขึ้นวันละเป็น 100,000 คน ไม่แสดงอาการอีกมาก



           ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดต่อแถลงต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขและการศึกษาวุฒิสภาสหรัฐฯว่า สหรัฐฯกำลังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จากไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นถึงวันละ 40,000 คนขึ้นไป และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 100,000 คน ในส่วนตัวรู้สึกกังวลที่ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อไม่ลดลง มาตรการที่ดำเนินการมาผิดทาง เรียกร้องให้ชาวอเมริกันสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการรวมตัวกัน หลังพบว่าประชาชนมีพฤติกรรมหย่อนยาน

          สถาบันจอห์น ฮอปกิ้น รายงานเมื่อเวลา 05.28น. สหรัฐฯมีผู้ป่วยสะสม 2,623,217 คน เสียชีวิต 127,258 ราย 4 รัฐในสหรัฐฯที่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ได้แก่ แอริโซนา, แคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา และเท็กซัส



           ดร.เฟาซี เตือนคนวัยหนุ่มสาวทั่วประเทศว่าควรจะต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนอื่นๆ ด้วย เนื่องจากมีพฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น รวมตัวเฉลิมฉลองตามผับบาร์ ไม่สวมหน้ากากป้องกันโรคและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเว้นระยะห่างทางสังคม ในส่วนตัวคิดว่าทุกคนต้องมีบทบาทในการหยุดโรคโควิด-19 ด้วยการรับผิดชอบส่วนตัวและในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม



          ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) เปิดเผยว่า ในการตรวจสอบผู้ป่วยโควิด-19 พบผู้ป่วยที่อยู่ในเรือนจำและสถานกักกันเป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะก่อนแสดงอาการเป็นจำนวนมาก และย้ำว่าการทดสอบซ้ำเป็นระยะในระหว่างการกักตัวมีความสำคัญ เช่น ที่รัฐลุยเซียนา พบกลุ่มผู้ต้องขังที่ถูกกักตัวและมีการตรวจหาเชื้อซ้ำติดเชื้อจำนวนหนึ่ง 1 ใน 4 ของผู้มีผลการทดสอบเป็นบวก เคยมีประวัติการทดสอบเป็นลบมาก่อน 1-2 ครั้งระหว่างอยู่ในสถานกักกัน และคนที่มีผลเป็นบวกถึงร้อยละ 45 ไม่มีอาการป่วย



นิวยอร์ก เพิ่มเป็น 16 รัฐ ให้คนเดินทางมาถึงต้องกักตัว 14 วัน



           นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้บังคับให้คนที่เดินทางมาจาก11 รัฐต้องกักตัว 14 วัน แต่ล่าสุดปรับเพิ่มเป็น 16 รัฐ  เพิ่มรัฐแคลิฟอร์เนีย, รัฐเนวาดา, รัฐจอร์เจีย, รัฐไอโอวา, รัฐไอดาโฮ, รัฐลุยเซียนา, รัฐมิสซิสซิปปี และรัฐเทนเนสซี จากที่ก่อนหน้านี้บังคับใช้กับรัฐแอละแบมา, รัฐอาร์คันซอ, รัฐฟลอริดา, รัฐนอร์ทแคโรไลนา, รัฐเซาท์แคโรไลนา, รัฐเทกซัส, รัฐวอชิงตัน และ รัฐยูทาห์ ซึ่งล้วนเป็นจุดแพร่ระบาด

          คำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่รายงานระบุว่า เคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในนิวยอร์ก ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของโรคระบาดใหญ่และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 ราย อยู่ในแนวโน้มขาลง สวนทางกับรัฐอื่นๆที่มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เป็นการควบคุมและคงอัตราการติดเชื้อและตัวเลขผู้ป่วยในโรงพยาบาลในระดับต่ำต่อไป 

 



ทองคำปิดตลาด เพิ่มขึ้นเกือบ 20 ดอลลาร์-จีน เผยตัวเลขศก.ส่งสัญญาณฟื้นตัว



          ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุน ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ดันราคาทองคำพุ่งแรงในวันอังคาร แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 ราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 19.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,800.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์



         ตลาดน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 43 เซนต์ ปิดที่ 39.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 56 เซ็นต์ ปิดที่ 41.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นักลงทุนเกรงว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเปิดเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้า หรือต้องกลับไปล็อกดาวน์เศรษฐกิจอีกครั้ง



         ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก  2 วัน ติดต่อกัน ทำสถิติเป็นไตรมาสที่ขยับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 เมินการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ



-ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 217.08 จุด หรือร้อยละ 0.85  ปิดที่ 25,812.88 จุด



-เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 47.05 จุด หรือร้อยละ 1.54  ปิดที่ 3,100.29 จุด



- แนสแดค เพิ่มขึ้น 184.61 จุด หรือร้อยละ 1.87 ปิดที่ 10,058.77 จุด

         ตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยและมีสัญญาณดี ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนเมื่อเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 50.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. 50.6 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ อยู่ที่ 54.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.6 ชี้ว่า จีน ชาติเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกและผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19



 



 



 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X