การก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 สาย ธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมพื้นที่โครงการซึ่งถือว่ามีความพร้อมมาก และสามารถเริ่มต้นดำเนินการในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้
นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการ อาจจะทำให้การจราจรหนาแน่นและติดขัด ดังนั้นผู้ใดใช้เส้นทางนี้จะต้องเผื่อระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 -8 กรกฎาคม 2564 ทีมก่อสร้างจะเข้าดำเนินการก่อสร้างจำนวน 2 จุดก่อน คือ กม.14 -15 และ กม.18-20+295 แต่การดำเนินงาน จะแบ่งเป็นช่วงๆ ละ 1 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการสัญจรไปมาของประชาชน
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่โครงการจะวางแนวแบริเออร์,ติดตั้งสัญญาณไฟแจ้งเตือนทั้งกลางวัน-กลางคืน,ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความหนาแน่นของการจราจรผ่านการถ่ายทอดสดในแอปพลิเคชั่นของกรมทางหลวงคือ ”Highway Traffic” จึงขอความร่วมมือผู้ใช้ทาง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำทางเลี่ยง และสัญญาณจราจรที่ติดตั้งไว้ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้ทางรวมถึงการไม่ขับขี่รถด้วยความเร็ว
สำหรับโครงการนี้เป็นการก่อสร้างเส้นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป - กลับ) ในเกาะกลางถนนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ซึ่งจะเริ่มต้นกิโลเมตรที่ 11 ไปถึงกิโลเมตรที่ 20 รวมระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร คาดว่า จะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปีหรือแล้วเสร็จภายในปี 2565 แบ่งเป็น 5 ช่วงการก่อสร้าง คือ
-ช่วงที่ 1 เริ่มต้น กม.14-15 และ กม.18 ถึง กม.20+295 เริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 -8 กรกฎาคม 2564 กรอบเวลาแล้วเสร็จ 1 ปี
-ช่วงที่ 2 เริ่มต้นกม.ที่ 13-13+500 ,กม.ที่ 15-15+600 และกม.ที่ 16+900-18 เริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 -31 กรกฎาคม 2564 กรอบเวลาแล้วเสร็จ 11 เดือน
-ช่วงที่ 3 เริ่มต้นกม.ที่ 13-13+500,กม.ที่ 16+100 -16+900 เริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 -31 สิงหาคม 2564 กรอบเวลาแล้วเสร็จ 11 เดือน
-ช่วงที่ 4 เริ่มต้นกม.12+500-13 เริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2563 -5 ธันวาคม 2564 กรอบเวลาแล้วเสร็จ 1 ปี
-ช่วงที่ 5 เริ่มต้นกม.11+959-12+500, กม.ที่ 15+600-16+100 เริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 ธันวาคม 2564 กรอบเวลาแล้วเสร็จ 1 ปี
สำหรับถนนพระราม 2 นับเป็นเส้นทางหลักของการคมนาคมขนส่งสู่ภาคใต้ และความเจริญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมต่อกัน เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีผิวจราจรเพิ่มขึ้นอีก 6 ช่อง รวมเส้นทางจราจรขาเข้า-ออก ด้านบนและด้านล่าง 20 ช่องจราจร ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเพียงพอรองรับการจราจรที่หนาแน่นในขณะนี้ได้แน่นอน