ปาฏิหาริย์มีจริง!
การรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 5 เดือน ด้วยอาการโคม่า ล่าสุด เฟซบุ๊ก ที่นี่ นครราชสีมา รายงานว่า ปาฏิหาริย์มีจริง
นายจิรัฐิติกาล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ขอบคุณทุกๆ คนที่ช่วยเหลือเนยและทุกกำลังใจที่คอยให้เนยมาตลอดนะครับ ขอบคุณมากๆ จริงๆ ตอนนี้อาการเนยดีขึ้นแล้วครับ แต่ต้องฝึกเดินให้ขากลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมและต้องกายภาพแขนกับมืออีกสักพักเพื่อให้แขนกับมือกลับมาใช้งานใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมครับ ขอบคุณคุณหมอและคุณพยาบาลที่เก่งๆ และเจ้าหน้าที่ทุกคนนะครับ ขอบคุณครอบครัวของเนยที่คอยดูแลเนยมาตลอดครับ”
CR:facebook ที่นี่ นครราชสีมา
2 นายตำรวจชลบุรี ช่วยปั๊มหัวใจลุงชักหมดสติ จนฟื้น
เฟซบุ๊ก ข่าวเด็ดชลบุรี โพสต์คลิป พร้อมระบุข้อความว่า แชร์เรื่องราวดี ๆ ชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ช่วยเหลือลุงมาติดต่อราชการ เกิดเป็นลมชักหมดสติ โชคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นช่วยปั๊มหัวใจจนฟื้นแล้วส่งรักษาตัว เป็นภาพที่น่าชื่นชม ส.ต.ต.สุรศักดิ์ งิ้วลาย ผบ.หมู่ (ป) สภ.เมืองชลบุรี คนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ช่วยเหลือชายสูงวัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เข้าเวรตามปกติ นั่งอยู่ในห้องรับแจ้งความ จู่ ๆ ได้ยินเสียงของ ร.ต.อ.วุฒิพงษ์ ตาลำ รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองชลบุรี ตะโกนร้องว่าลุงเป็นอะไร ใจเย็น ๆ เลยรีบวิ่งออกมาดู พบลุงกำลังชัก แล้วนอนหมดสติ มือกำแน่นและกัดลิ้น ร.ต.อ.วุฒิพงษ์ ก็ปั๊มหัวใจช่วยจนลุงฟื้นมีสติ จากนั้นประสานไปยังโรงพยาบาลให้มารับตัวไปรักษา ตอนนี้อาการของลุงดีขึ้นและปลอดภัยดีแล้ว
การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการชัก ต้องตั้งสติให้ดี ตะโกนเรียกผู้อื่นให้ช่วยโทรแจ้งขอความช่วยเหลือแล้วรีบเข้าไปประคองตัวผู้ป่วยและปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างระมัดระวัง ได้แก่
1. จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคงทางด้านขวา
2. ป้องกันผู้ป่วยจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ
3. หากสวมแว่นตาหรือฟันปลอมควรถอดแว่นตาหรือฟันปลอมออก (ถ้าทำได้ง่าย)
4. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกห่างจากบริเวณที่อาจเกิดอันตราย เช่น ท้องถนน เสาไฟฟ้า ที่สูง หรือบ่อน้ำ
5. ห้ามผูกมัด หรือ กดตัวผู้ป่วย หรือทำวิธีใดๆ ให้ผู้ป่วยหยุดชัก (ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด)
6. ไม่ควรทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพังขณะชักหรือหลังชักใหม่ๆ
7. ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารทันทีหลังชักใหม่ๆ
8. ดูแลอาการสับสนระหว่างชัก หรือหลังชักจนกว่าจะหายไปเอง
9. ไม่ควรเร่งให้ผู้ป่วยยืนหรือเดินขณะพักฟื้น ถ้าผู้ป่วยหลับให้พักจนเพียงพอ (การรีบปลุกอาจทำให้ผู้ป่วย สับสนและอาละวาด หรืออาจเกิดการชักซ้ำได้)
รมว.คลัง ยืนยัน ไม่กู้เงินโควิด-19 เพิ่มแล้ว
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยถึงข้อเสนอโครงการขอใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีวงเงินทะลุถึง 1.4 ล้านล้านบาทว่า คลัง ยืนยันจะไม่พิจารณาออกพ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติมแน่นอน เพราะมองว่าเงิน 400,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอในการฟื้นฟูแล้ว โดยสิ่งสำคัญคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่ดูแลโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะต้องคัดเลือกโครงการให้เหมาะสม เพื่อใช้วงเงินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ 3 กรมภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ประเมินการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ว่าจะปรับตัวลดลงมากน้อยเพียงใด หลังการจัดเก็บรายได้ที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะเดียวกันจะพิจารณาว่าจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากสัดส่วนรายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกันตามงบประมาณที่จัดทำ ก็อาจต้องกู้ลดการขาดดุล
สศช.เผยหนี้ครัวเรือนคนไทยพุ่งเกือบ 80%
ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนจนถึงไตรมาส 4 ปี 2562 มียอดรวมกว่า 13 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ ร้อยละ 79.8 สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทย พบว่า เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคมากที่สุดร้อยละ 35.1 รองลงมาเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยประมาณร้อยละ 33.7 เพื่อธุรกิจและการลงทุนร้อยละ 18.4 และเพื่อยานยนต์ร้อยละ 12.8
รายจ่าย 5 อันดับแรกที่ทำให้เกิดการก่อหนี้ซ้ำ อันดับแรกเป็นเรื่องการผ่อนบ้านและรถร้อยละ 24.7 ค่าเดินทางร้อยละ 19.3 เสื้อผ้าร้อยละ 16 เหล้า/บุหรี่ ร้อยละ 11.2 และค่าไฟฟ้า/ประปา ร้อยละ 6.6
เผยผลสำรวจกลุ่มเป็นหนี้ พบว่า มีทัศนคติว่า ยิ่งมีรายได้มากขึ้นและจะใช้จ่ายมากขึ้น จึงไม่มีเงินเหลือเก็บ พบว่า สาเหตุสำคัญมาจากการชอบช้อปปิ้งร้อยละ 39.8 เกือบชอบการช้อปปิ้ง ร้อยละ 36.5 และไม่ชอบร้อยละ 23.7 กลุ่มที่มีทัศนคติมีเงินมากใช้มากและไม่มีเงินเหลือเก็บรวมทั้งชอบการช้อปปิ้ง พบว่า เป็นกลุ่มอายุ 20-32 ปี มากที่สุด