ประเด็นการคัดค้านเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อ Wellness and Medical Tourism นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) เปิดเผยว่า ร่างฯ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อ Wellness and Medical Tourism ไม่ใช่เป็นการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เป็นการแพทย์ด้านอื่น ๆ เช่น การทำศัลยกรรมเสริมความงาม การรักษาอาการมีบุตรยาก
ส่วนการเตรียมผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 ที่จะต้องเพิ่มเงื่อนไขในการป้องกันการแพร่ระบาดมากขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นเวลา 32 วันติดต่อกันแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกยังมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตหลักพัน และบางประเทศพบการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ด้วย จึงขอความร่วมมือในการปฏิบัติตาม 5 มาตรการหลัก รวมถึงการใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” เพื่อให้เป็นวิถีชีวิตใหม่ New Normal
สำหรับ กิจการ/กิจกรรมที่จะผ่อนคลายในระยะที่ 5 มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดสูง เนื่องจากมีความแออัดของผู้คนในสถานประกอบการ เช่น สถานบันเทิง ที่เคยเป็นสถานที่แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” จึงมีความสำคัญในการควบคุมและติดตาม หากมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ดังกล่าว โฆษก ศบค. ยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของประชาชน และข้อมูลจะถูกนำมาใช้เมื่อมีการแพร่ระบาดเท่านั้น
โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงกรณีการหารือเพื่อให้มีการเดินทางเข้ามาของกลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุน เดินทางเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศระยะสั้น ซึ่งอาจรวมถึงคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ ที่สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากประเทศจีน โดยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องเข้ากระบวนการ State Quarantine แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการคุมไว้สังเกต ซึ่งจะต้องมีทีมแพทย์คอยติดตาม ต้องมีแผนการทำงานเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ และต้องผ่านระบบการตรวจคัดกรองโรคทั้งก่อนเข้ามาและก่อนออกจากประเทศ
รวมถึงกรณีไม่เห็นด้วยที่ให้มีการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ และการเพิ่มระยะเวลาการกักตัวใน State Quarantine โฆษก ศบค.กล่าวว่า การกักตัวระยะเวลา 14 วันเป็นเวลาที่เหมาะสมตามทฤษฎีการฟักตัวของเชื้อโรค ย้ำว่า ยังไม่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแบบเสรีเด็ดขาด จะมีแต่เฉพาะนักธุรกิจ นักลงทุน แรงงานฝีมือ และคนต่างด้าวที่มีครอบครัวในประเทศไทย รวมถึงกรณีการทำ Travel Bubble ยังไม่มีความชัดเจน เพราะจะต้องใช้เวลาศึกษาและคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ
โฆษก ศบค. ยังฝากประชาชนให้ติดตามผลการประชุม ศบค. ในวันจันทร์ (29 มิ.ย. 63) ที่จะมีการหารือถึงเรื่อง (1) การผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 (2) การอนุญาตให้บุคคลเดินทางมาจากต่างประเทศ (3) การขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน (4) มาตรการรองรับการเปิดการศึกษา กรณีเด็กชายแดน และ (5) การขอยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดการเว้นที่นั่ง เว้นระยะห่าง 1 เมตร ในขบวนรถโดยสารสาธารณะ