“หมอธีระ” เผยปลดล็อกได้แต่พอดี ขอให้ประคองให้รอดปลอดโควิด
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ในต่างประเทศว่า ประเทศจีนตอนนี้ประสบปัญหาการระบาดรุนแรง ล่าสุดในกรุงปักกิ่ง ต้องปิดโรงพยาบาลขนาด 1,800 เตียง เพราะพยาบาลติดเชื้อโควิด-19 และในรอบสัปดาห์ กรุงปักกิ่งติดเชื้อไปกว่า 180 คน สูงที่สุดนับตั้งแต่ก.พ.
รัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย ต้องต่ออายุภาวะฉุกเฉินอีกเดือนเพราะยังคุมการระบาดไม่ได้
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มองว่า หลักสำคัญตอนนี้คือการประคับประคองประเทศให้รอดจากโรคโควิด-19 ปลดล็อกให้พอหายใจ หายคอได้ แต่ยังไม่ต้องหวังว่าจะคล่องตัวเหมือนอดีต เศรษฐกิจทั่วโลกทรุดตัว ตอนนี้ต้องเน้นยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเอง ใช้ทรัพยากรภายในประเทศเพื่อประทังชีวิต
นอกจากนี้ มองว่า ควรระงับมาตรการเปิดการท่องเที่ยวในรูปแบบ Travel Bubble ไว้ก่อน ขณะที่หน่วยงานความมั่นคง ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดและยึดมั่นในหลักการรักษาความปลอดภัย มั่นคง ต่อประเทศชาติประเทศไทยจำเป็นต้องยืนหยัดต่อสู้กับโรคนี้ ด้วยความพร้อมเพรียงกันของพวกเราทุกคน
สถานการณ์ที่พบว่าไม่มีผู้ป่วยในประเทศต่อเนื่อง 28 วัน แสดงให้เห็นแล้วว่า ที่เราสู้กันมานั้นมาถูกทางแล้ว และยังต้องช่วยกันทำต่อ เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน
อินโดฯ ชมไทย นำแนวทางแก้โควิด-19 ไปปรับใช้
นายอะฮ์มัด รุซดี (H.E. Mr. Ahmad Rusdi) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย หารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงการหารือได้พูดคุยกันถึงการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 รองนายกรัฐมนตรี ขอบคุณเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายคนไทยที่ได้รับผลกระทบให้เดินทางกลับประเทศไทยด้วยเที่ยวบินพิเศษ
ด้านเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมมาตรการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย จะนำบทเรียนและประสบการณ์ของไทยไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำแนะนำถึงการจัดการโควิด-19 ว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ คือการได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ และการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล (Social Distancing) ไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ และเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง
รองนายกฯ กล่าวถึง ความคืบหน้าในการค้นคว้าวิจัยด้านการผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 ในไทย ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการทดลองและมีผลตอบสนองที่ดี กำลังเข้ากระบวนการทดลองในมนุษย์เป็นลำดับต่อไป ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น การค้าการลงทุน การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยรองนายกรัฐมนตรีเสนอให้พิจารณาการพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการพัฒนาความร่วมมือด้านการสาธารณสุข และด้านธุรกิจการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ
CR:รัฐบาลไทย
คาด 24 มิ.ย. กนง. คงดอกเบี้ย 0.50% กังวลกำลังซื้อถดถอยจากการว่างงาน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการฯจะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 เพื่อรอดูประสิทธิผลของมาตรการทางการเงินการคลังที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ทั้งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพ.ค.มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การพักชำระหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น รวมถึงมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วยประคับประคองภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้ผ่านวิกฤต หลังจาก กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 0.75 มาที่ระดับร้อยละ 0.50 ในการประชุมเดือนพ.ค. ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง เพื่อสนับสนุนกลไกภาครัฐ และช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในการลดต้นทุนทางการเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศ ยังเผชิญความเสี่ยงสูง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล และอินเดีย ยังไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่หลายประเทศ เช่น จีนและญี่ปุ่น ก็เผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกสอง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ การพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคยังมีความไม่แน่นอน คาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาเป็นปีจนกว่าจะพัฒนาออกมาได้สำเร็จ
ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจถดถอยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ล่าสุด คาดว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะมีการปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงอีก ขณะที่กำลังซื้อในประเทศและการจ้างงานที่ลดลง เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในประเทศ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยจะเริ่มคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงสูงและไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้เร็ว เนื่องจาก การส่งออกและการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศในระดับสูง ส่งผลต่อเนื่องมาที่รายได้ของคนในประเทศให้ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานในไทยอาจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.0 เมื่อปีก่อนหน้านี้ เพิ่มขึ้นในปีนี้ที่ร้อยละ 4.0 การจ้างงานที่ลดลงเป็นปัจจัยหลักที่บั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและอุปสงค์ภายในประเทศ