วันนี้ ฉีดเข็มที่ 2 วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNAในลิง
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
-วันที่ 23 พ.ค.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ครั้งแรกให้กับลิงทดลอง 13 ตัว ผลตรวจเข็มที่ 1 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะลิง 4 ใน 5 ตัวมีภูมิคุ้มกันขึ้นสูง สามารถยับยั้งเชื้อโรคโควิด-19 ในหลอดทดลองได้
-วันที่ 22 มิ.ย.จะฉีดในลิงเป็นการกระตุ้นภูมิเข็มที่ 2 ถ้าผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี จะเลือกวัคซีนและส่งไปผลิตที่โรงงานผลิตที่ประสานเอาไว้ ประมาณ 10,000 โดส ก่อน เพราะหากรอช้าอาจจะไม่ทัน ประเทศอื่นที่มีงบประมาณมาก
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ถ้าผลภูมิคุ้มกันในลิงดี ต้องมีการหารือกับคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการผลิตวัคซีนว่าเชื่อถือได้และปลอดภัย รวมทั้งดูมาตรฐานการผลิตของโรงงานที่เราสั่งจองไว้ที่ต่างประเทศที่สหรัฐฯและแคนาดา ขณะเดียวกันต้องเขียนโครงการทดลองในคนให้ชัดเจนว่า 100 คนแรกกำหนด โดสต่ำ กลาง สูง อย่างไร และต้องมีคณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาข้อมูลวิทยาศาสตร์และการออกแบบการทดลอง รวมทั้งการดูแลอาสาสมัครด้วย ขณะนี้ยังไม่มีการรับสมัครอาสาสมัคร ในส่วนตัวสนใจการออกแบบโครงการที่เยอรมัน ที่เลือกกลุ่มอาสาสมัครมีผู้สูงอายุด้วยเพราะโควิด-19 ระบาดแรงในผู้สูงอายุ โครงการที่เยอรมันแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มอายุ 18- 50 ปี และ 50 - 80 ปี และในกลุ่มอาสาสมัครต้องมั่นใจว่า ไม่มีการกินยาที่ส่งผลกระทบและมีโรคร้ายแรง
ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า ได้เตรียมแผน 2 ไว้ หากในการกระตุ้นภูมิเข็ม 2ในลิงของไทยไม่ดี และของสหรัฐฯ ยุโรป มีผลดีกว่าเรามาก เราจะขอซื้อจากสหรัฐฯ มาผลิตในไทย เช่นเดียวกับพันธมิตรต่างประเทศก็บอกว่าถ้าของไทยดีก็จะเอาของไทยมาใช้เช่นกัน และไม่ต้องกลัวว่าจะมีการหวงวัคซีน เพราะทั่วโลกเข้าใจว่าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ต้องพร้อมผลิตร่วมกัน
“หมอยง” ชี้อัตราการติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นเป็นอาทิตย์ละ 1,000,000 คน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ทั่วโลกยังมีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้น
-เมื่อเดือนเม.ย.ถึงต้นพ.ค. อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,000,000 คน จะใช้เวลา 12 วัน
-เมื่อกลางเดือนพ.ค.ถึงต้นเดือนมิ.ย.เป็นต้นมา อัตราการเพิ่มขึ้นในอัตรา 1,000,000 คนทุก 10 วัน
-ในสัปดาห์นี้และสัปดาห์ต่อไป มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น อาทิตย์ละ 1,000,000 คน
ที่สำคัญ โรคระบาดเข้าสู่ประเทศในลาตินอเมริกา และมีอัตราการเพิ่มสูงมาก โดยเฉพาะในบราซิล นอกจากนี้ ในอินเดีย บังกลาเทศ และประเทศในตะวันออกกลาง มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการระบาดที่จะเข้าสู่ทวีปแอฟริกา ตัวเลขที่ไม่ได้วินิจฉัยจะมีจำนวนมาก ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีการระบาดมากและรวดเร็วก็คงจะเป็นอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เราคงจะต้องต่อสู้ไปอีกยาวนาน ทุกคนจะต้องช่วยกัน ที่จะไม่ลืมกำหนดระยะห่างสำหรับบุคคลและสังคม ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย
องค์การอนามัยโลก แถลงเรียกร้องให้ทุกประเทศและประชาชนทุกคนยังคงต้องระมัดระวังและป้องกันตัวเองอย่างต่อเนื่อง จากรายงานในหลายประเทศมีการกลับมาระบาดระลอก 2 พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น
พณ.เตรียมเสนอครม.ประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าวไร่ละ1,000บาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอครม.พิจารณาอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/ 2564 ด้วยการเพิ่มค่าบริการจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้อัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ 20,000 บาทต่อครัวเรือนเรื่องดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) แล้ว ซึ่งรูปแบบแนวทางจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าที่ประกันไว้ และมีมาตรการเสริมช่วยเหลือเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริม เช่น กรณีช่วงไหนที่ปริมาณข้าวออกมามากจะใช้วิธีชะลอการขาย โดยเกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้ที่ยุ้งฉางก่อน และได้รับเงินชดเชยตันละ 1,500 บาท แต่หากเป็นสถาบันเกษตรกรก็ได้อีก 1,500 บาท เช่นกัน ขณะที่โรงสีและสหกรณ์ต่าง ๆ หากช่วยรับซื้อข้าวจากเกษตรกร เพื่อไม่ให้ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดมากภาครัฐจะช่วยเรื่องดอกเบี้ยร้อยละ 3
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ให้กับเกษตรกร โดยข้าวหอมมะลิประกันตันละ 15,000 บาท หากวันไหนราคาข้าวหอมมะลิในตลาดต่ำกว่านี้ รัฐบาลพร้อมจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรทันที และในวันนี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ข้าวไทย ครั้งที่ 1/ 63 เพื่อกำหนดแนวทางการทำตลาดข้าวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และวางกรอบแนวทางปีหน้า
ไก่ส่งออกของไทย อาจได้โอกาสหลังบราซิลมีปัญหาโควิด-19
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ เปิดเผย ว่า กรณีโรงงานเชือดไก่ของบราซิล ประสบปัญหาเรื่องการระบาดโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการผลิต ทำให้ผู้บริโภคอาจหันมาซื้อไก่จากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นแทน เป็นโอกาสในการส่งออกของอุตสาหกรรมไก่ส่งออกของไทย ไม่ใช่เฉพาะซีพีเอฟแต่ผู้ส่งออกไทยทุกราย เพราะที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ส่งออกไก่ไปป้อนตลาดโลกเป็นเบอร์ 2 รองจากบราซิล ในแต่ละปีบราซิลส่งออกประมาณ 4,000,000 ตัน ส่วนไทยส่งออก 900,000 ตันเท่านั้น และมีการแข่งขันส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ เช่นเดียวกันไทย ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น
บราซิล มีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นแต่ละวันจำนวนมาก มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจจะกังวล หันมาซื้อไก่จากผู้ส่งออกรายอื่น ๆ แต่ก็คงไม่ถึงกับทำให้ยอดส่งออกไก่ของไทยพุ่งขึ้นทันที ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีและที่ผ่านมาสามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยได้เป็นที่น่าพอใจจึงต้องรีบคว้าโอกาสนี้ อย่างไรก็ตาม จุดหนึ่งที่เรายังต้องจับตาคือเรื่องค่าเงิน เพราะเงินบราซิลอ่อนค่าจึงยังมีความได้เปรียบไทยระดับหนึ่ง
เอกชน เผยตลาดญี่ปุ่น-จีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า ตลาดจีนและญี่ปุ่นกลับมาสั่งซื้อไก่จากไทยมากขึ้น ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ภาพรวมการส่งออกไก่ ขยายตัวดีมาก โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ตลาดอันดับ 1 ของการส่งออกไก่ไทย ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ ตลาดจีนก็เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 60 จากที่ก่อนหน้านี้โรงงานของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยให้ส่งออกไปจีนได้ 8 โรงงาน จึงสามารถส่งออกได้ 60,000 ตัน จากเดิมที่เคยทำได้เพียง 18,000 ตัน นอกจากนี้ ยังทำให้ราคาไก่ไทยปรับตัวดีขึ้น จาก กก.ละ 27-28 บาท เป็น 34-35 บาท ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19