สภาบริหารสูงสุดของสภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) ในกรุงปักกิ่งเสร็จสิ้นการประชุมเป็นเวลา 3 วันเมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) เพื่อพิจารณาการจัดตั้ง การปฏิรูปกรอบกฎหมาย และการบังคับใช้กลไกเพื่อพิทักษ์ความมั่นคงแห่งชาติ ภายในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเพื่อเตรียมบัญญัติเป็นกฎหมาย ตามที่มีความเห็นชอบหลักการพื้นฐานเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงชุดใหม่ 70 ที่นั่งในวันที่ 6 กันยายนนี้
กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงรอบใหม่ในฮ่องกง และสหภาพยุโรปเตือนว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลโลก หากมีการบังคับใช้กฎหมาย โดยในสาระสำคัญของกฎหมายจะมีการตั้งสำนักงานความมั่นคงในเขตบริหารพิเศษเพื่อรวบรวมข้อมูลด้านข่าวกรองและจัดการกับการก่ออาชญากรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง แบ่งแยกดินแดน โดยผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารฮ่องกงมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีความมั่นคง แต่ในเวลาเดียวกัน เนื้อหาของกฎหมายได้ย้ำเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม ส่วนอำนาจในการตีความกฎหมายจะอยู่ที่คณะกรรมาธิการถาวรของสภาประชาชนแห่งชาติจีน
กลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตยในฮ่องกงมีความกังวลว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการทำลายเสรีภาพในฮ่องกง และไม่เป็นไปตามข้อตกลงเรื่องหลักการปกครอง 1 ประเทศ 2 ระบบ ซึ่งในเวลาเดียวกันกลุ่มรณรงค์ยังได้รับการสนับสนุนที่ลดลงในการจัดการประท้วงต่อต้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ หลังจากที่เคยมีผู้เข้าร่วมการประท้วงนับล้านคนในช่วงที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปประชาธิปไตยใน 2557 มาจนถึงการคัดค้านกฎหมายข้ามแดนในปีที่แล้วซึ่งเป็นการประท้วงที่ยืดเยื้อนานหลายเดือนจนต้องหยุดพักไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในต้นปีนี้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมการประท้วงตามท้องถนนลดลง
นอกจากนี้ในการที่สหภาพแรงงานสนับสนุนประชาธิปไตย เปิดให้สมาชิกร่วมลงประชามติว่าจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวหรือไม่ ปรากฏว่ามีสมาชิกเพียง 8,943 คน จากประมาณ 60,000 คนที่ใช้สิทธิ หรือประมาณร้อยละ 15 ซึ่งแม้ว่าร้อยละ 95 ของผู้มาใช้สิทธิจะสนับสนุนการประท้วง แต่จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิก็ทำให้สหภาพไม่สามารถเข้าร่วมการประท้วงได้
...