ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30น. วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2563

18 มิถุนายน 2563, 09:14น.


วสท.แนะนำมีวิธีบูรณะอาคารเก่าแก่โดยไม่ต้องรื้อ



          จังหวัดแพร่ เลื่อนการชี้แจงเรื่องการรื้อถอนอาคารไม้เก่าแก่กว่า 100 ปี ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า เป็นวันพรุ่งนี้ ปัจจุบันอาคารนี้อยู่ภายในบริเวณสวนรุกขชาติเชตะวัน ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง



          รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ระบุว่า การซ่อมแซม ปรับปรุงหรือบูรณะอาคารเก่าแก่จะต้องคงโครงสร้างอาคารเดิมเพื่อรักษาคุณค่าให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงสำรวจหาจุดที่บกพร่องหรือผุพัง เพื่อหาวิธีการซ่อมแซม ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความทันสมัยมาก หากพบโครงสร้างมีปัญหา สามารถเสริม เติม ยึด ฉีดอัด หรือเปลี่ยนให้แข็งแรงอย่างเก่าหรือแข็งแรงกว่าเดิมได้หลายวิธีไม่มีความจำเป็นต้องไปรื้อ ถอนหรือทุบทำลายอาคาร นอกจากนี้ต้องสำรวจตรวจสอบความเสียหาย ก่อนแจ้งให้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ว่าอาคารเสียหายขนาดใด ก่อนหารือวิธีการบูรณะ โดยจะไม่มีการลงมือทำโดยไม่ปรึกษาผู้ว่าจ้างเด็ดขาด



          ด้านสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นเจ้าของในการปรับปรุง กล่าวว่า เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2560-2561 เป็นการของบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเก่าแก่ในสวนรุกชาติบ้านเชตะวัน จนได้รับการอนุมัติปีนี้ วงเงิน 6,707,190 บาท จากนั้นจังหวัดได้มอบหมายให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นผู้ดำเนินการ และอธิบดีได้มอบหมายให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ผู้ดำเนินการต่อ ยืนยันว่าการรื้ออาคารไม่ใช้การทุบทิ้งหรือทำลาย แต่เป็นขั้นตอนการรื้อเพื่อดำเนินการบูรณะปรับปรุงอาคาร แต่ด้วยอาคารเสื่อมสภาพอย่างมากจึงต้องรื้อออกทั้งหมด โดยรักษาชิ้นส่วนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์เก็บไว้เป็นชิ้นส่วนหลักในการปรับปรุงอาคารใหม่ที่คงรูปแบบเดิม ซึ่งกำลังทำบัญชีจัดกลุ่มไม้แต่ละส่วน ตามกำหนดจะสร้างปรับปรุงอาคารเสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ขณะนี้ได้สั่งให้ระงับการดำเนินการทุกอย่างแล้ว เพราะทำให้ประชาชนเสียใจ ก่อนประสานให้ผู้รับเหมามาชี้แจงต่อไป



         นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กำกับดูแลแหล่งโบราณสถานใน 8 จังหวัดทางภาคเหนือ กล่าวว่า เรื่องโบราณสถานวนเวียนอยู่ในชีวิตผู้คนแบบที่ไม่ได้สังเกต เช่น ตึกแถว อาคารหลังเก่าของโรงเรียน อาคารสำนักงานของรัฐหรือเอกชน แม้กระทั่งอาคารแปลกๆ อย่างคุกเรือนจำ ก็อาจเป็นโบราณสถานได้ ไม่ว่าอาคารนั้นจะเป็นของรัฐหรือเอกชน การรื้อทำลายแม้เพียงวันเดียวก็สามารถทำลายสิ่งที่สั่งสมมาเป็นร้อยปีได้ และถ้าอาคารนั้นมีประวัติศาสตร์ มีความสำคัญไม่ว่าจะเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองหรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือตัวบุคคล อาคารนั้นก็เข้าเกณฑ์ความเป็นโบราณสถานได้



พระพยอม เตรียมหลักฐาน ยืนยันซื้อที่ดินพื้นที่พิพาทถูกต้อง



          ปัญหาที่ดินพิพาทขนาด 1 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา มูลนิธิสวนแก้ว รวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาและพระชั้นผู้ใหญ่ ซื้อจากนางวันทนา สุขสำเริง ตั้งแต่ปี 2547 ด้วยราคา 10 ล้านบาท ทำสัญญาซื้อขายผ่านสำนักงานที่ดินตามกฎหมาย จากนั้นวัดเริ่มพัฒนาจากพื้นที่รกร้างจนกลายเป็นที่พักคนงานของวัดสวนแก้ว หลังเกิดข้อพิพาท พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว พยายามต่อสู้ เพราะยึดมั่นว่าที่ดินผืนดังกล่าวซื้ออย่างถูกต้อง ที่ผ่านมามีความพยายามไกล่เกลี่ยที่ศาล โดยมูลนิธิเสนอเงินให้ทายาทเจ้าของที่ดินหลายครั้ง เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่อีกฝ่ายต้องการมากกว่าที่เสนอ



          ปี 2549 ทายาทของนางทองอยู่ เจ้าของที่ดินตัวจริง อ้างว่าที่ดินผืนดังกล่าวได้ให้นางวันทนา อยู่อาศัยเท่านั้น การครอบครองปรปักษ์ของนางวันทนา ได้มาไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ศาลสั่งเพิกถอนการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำให้โฉนดที่ดินที่มูลนิธิสวนแก้วถือครองอยู่กลายเป็นโมฆะ และศาลฎีกามีคำสั่งให้วัดสวนแก้ว ย้ายสิ่งของออกจากที่ดินดังกล่าวภายในสิ้นเดือนมิ.ย.



          ทางวัด ระบุว่า มีการเตรียมพยานหลักฐาน เอกสารโฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ทางวัดได้ซื้อต่อมาจากนางวันทนา อย่างถูกต้องและสุจริต ซึ่งหากทางฝ่ายทายาทเจ้าของที่ดินจะบังคับให้ทางวัดย้ายออกจากที่ดิน ก็ต้องนำเงิน 10 ล้านบาท ที่ทางมูลนิธิวัดสวนแก้ว จ่ายให้กับนางวันทนา ไปแล้ว มาคืนให้กับทางมูลนิธิวัดสวนแก้ว หรือทางเลือกที่ 2 ตามที่ พระพยอม เคยเสนอจ่ายเงินค่าที่ดินเพิ่มให้อีก 3 ล้านบาท เพื่อให้ที่ดินเป็นของวัด ตรงนี้อยากขอให้เข้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก พระพยอม ระบุว่า ถึงแม้หากว่าการสู้คดีในครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใดก็พร้อมรับและขอให้ญาติโยมยอมรับคำตัดสินเรื่องนี้ด้วย อย่าไปซ้ำเติมกัน



เสนอเรื่อง “ทราเวล บับเบิล” 26 มิ.ย.น่าจะเป็นการทำ MOU กับประเทศคู่เจรจา  

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ไทยเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 เพราะบุคลากรสาธารณสุขทำงานอย่างเข้มข้น การ์ดอย่าตก เราไม่มีผู้ป่วยในประเทศเป็นเวลา 23 วัน รออีก 1 สัปดาห์ก็จะครบ 28 วัน ระยะปลอดภัย ขออย่างเดียวไข่อย่าแตก ดังนั้นบุคลากรสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ พร้อมเผชิญเหตุหากเกิดมีผู้ป่วยเข้ามาก็ต้องรุกเข้าไปแก้ปัญหาอธิบายประชาชนให้ทราบและเข้าใจ

          สำหรับการจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศ หรือทราเวล บับเบิล ตอนนี้มอบให้กรมควบคุมโรค และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ.ดูแล ขณะนี้ต้องจัดคิวพบเอกอัครราชทูตหลายประเทศที่ประสานเข้ามา มีหลายประเทศร่างกรอบการควบคุมป้องกันโรค การคัดกรองคนเดินทางเข้าไทย และคัดกรองการเข้าประเทศของเขา จึงต้องมาดูว่าสอดคล้องกับมาตรการในประเทศไทยหรือไม่ โดยอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยในการควบคุมโรคและเศรษฐกิจ เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องจะหารือและเสนอต่อนายกฯ และศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 26 มิ.ย.นี้



           การจับคู่คงเป็นลักษณะการทำเอ็มโอยู หากประเทศที่จับคู่เกิดการระบาดขึ้นมาอีกและควบคุมไม่ได้ ก็สามารถยกเลิกได้ ทุกอย่างจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป ไม่อยากให้กังวล เราต้องกล้าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้มีการเดินทางไปมาหาสู่ประกอบธุรกิจ อาจจะเริ่มจากผู้ประกอบธุรกิจ เทคนิเชียน บรรดาครู คนทำงานที่มีใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น อาจจะยังไม่ถึงขั้นนักท่องเที่ยว เพราะเชื่อว่าต่อให้เปิดประเทศตอนนี้ ทั้งเราและเขาคงยังไม่มีใครจะมาท่องเที่ยว



สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ชี้แจง การส่งออกแซลมอนปฏิบัติตามหลักอาหาร ปลอดภัย  



          สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC)  ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านอาหาร ยังไม่มีรายงานกรณีการติดเชื้อที่เกิดจากการปนเปื้อนในน้ำหรืออาหาร ไม่มีความเป็นไปได้ที่อาหารทะเล เช่น แซลมอน จะเป็นแหล่งกำเนิดหรือพาหะของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือการที่เชื้อจะติดอยู่ในตัวปลามาตั้งแต่แรก ผู้ประกอบการฟาร์มแซลมอนในนอร์เวย์ ดำเนินมาตรการที่เคร่งครัดเพื่อจำกัดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเดินหน้าผลิตอาหารทะเลภายใต้สุขอนามัยและมาตรการตรวจวัดการปนเปื้อนในอาหารที่เข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง



         NSC ให้ความเชื่อมั่นว่านอร์เวย์ยังยึดมั่นในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยท่ามกลางการระบาดในครั้งนี้ และมีการติดตามความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าให้มองข้ามความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยอย่างเข้มงวดในการจัดเตรียมอาหาร องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำหลักสำคัญ 5 ประการ เพื่ออาหารที่ปลอดภัย



1. รักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด



2. แยกอาหารที่ดิบและปรุงสุกแล้วออกจากกัน



3. ประกอบอาหารให้สุกอย่างทั่วถึง



4. จัดเก็บอาหารให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม



5. ใช้น้ำและวัตถุดิบที่สะอาดปลอดภัย



 

ข่าวทั้งหมด

X