การบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด- 19 ที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย. ทำให้รัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านถึงการจะต่ออายุหรือยกเลิก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หากยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถควบคุมโรคได้ เพราะสถานการณ์ในประเทศตอนนี้ยังไม่น่าไว้ใจ และการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ไม่ได้เสียหายอะไร แต่มองว่าประชาชนบางส่วนกลัวในการออกคำสั่งหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับประชาชน แต่ในบางข้อที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกฟ้อง เหมือนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ที่รัฐบาลให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการปฏิบัติหน้าที่ หากสามารถทำงานด้วยความมั่นใจก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่กล้าสั่งการ ลูบหน้าปะจมูกด้วยความเกรงใจกัน เช่น การสั่งปิดสถานที่หากเกิดเหตุ จะกล้าปิดหรือไม่ ดังนั้นหากเกิดความไม่มั่นใจในการทำงาน รัฐบาลจึงต้องมีมาตรฐานกลางเพื่อให้เจ้าหน้าที่กล้าดำเนินการ ในส่วนตัวไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรควรไปทางซ้ายหรือทางขวา ได้ให้คำปรึกษาและคำแนะนำไปหลายแนวทาง ศบค. ต้องคุยกับกระทรวงสาธารณสุข ,ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง โดยให้ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานและคนกลางในการเจรจาเพื่อหามาตรฐานกลางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ทำงานได้อย่างมั่นใจ ยอมรับว่า การใช้มาตรฐานกลางคือการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ขอบอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ดีกว่า
นายวิษณุ ชี้แจงในหลายแนวทางว่า หากไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะต้องใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อแทน แต่จะเกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการตามกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงไว้ให้ทราบ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม ยังสามารถใช้ได้ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องพิจารณาถึงความพร้อมที่จะเจอกับปัญหา เช่น การเปิดสนามบินให้เครื่องบินลง เพื่อเปิดการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble ซึ่งจะมีหลายชาติเดินทางเข้าประเทศ แต่หากสงสัยว่ามีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 การสั่งการให้กักกันตัว สถานที่ บุคคลสั่งการ ค่าใช้จ่าย และการจัดการพื้นที่ หากจัดการปัญหานี้ได้ก็วางใจได้ แต่หากติดปัญหาก็ต้องหารือกันใหม่