'หมอยง' ชี้ว่าการตรวจรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ที่เขียงปลาแซลมอนในจีน บอกที่มาได้

16 มิถุนายน 2563, 08:58น.


          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุถึงเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนว่า การตรวจรหัสพันธุกรรมของไวรัส จะช่วยให้ทราบถึงรายละเอียดของที่มาของไวรัสได้ ไวรัสที่พบในเขียงปลาแซลมอนหรือในตัวแซลมอนและในคน ควรมีรหัสพันธุกรรมเดียวกันหรือใกล้กันมากที่สุด สายพันธุ์ที่พบก็พอจะบอกได้ว่าสายพันธุ์นั้นเหมือนกับที่ระบาดอยู่ในประเทศอะไร หรือเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในจีนดั้งเดิม ถ้าพบว่าเป็นสายพันธุ์ในประเทศที่ต้นทางของปลาแซลมอน ก็จะได้เป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งว่ามีการติดปนเปื้อนมาตั้งแต่ต้นทาง แหล่งผลิตปลาแซลมอน เช่น ถ้าเป็นสายพันธุ์ยุโรปเหนือ ก็จะมีลักษณะจำเพาะ เชื่อว่าอีกวันสองวัน ทางการจีน คงแถลงความชัดเจนเรื่องนี้



          ในการระบาดในประเทศไทยในระยะรอบแรกสายพันธุ์ที่ติดกันเองในประเทศไทย จะมีลักษณะจำเพาะ ศูนย์จุฬา ทำวิจัย ตั้งชื่อสายพันธุ์นี้ว่า T-strain เพราะมีการเปลี่ยนกรดอะมิโน 1 ตำแหน่ง  เป็น Threonine และ T ก็ตรงกับไทยแลนด์ ไม่พบในประเทศอื่น และเมื่อไม่มีการระบาดในประเทศไทยแล้ว สายพันธุ์นี้ควรจะหมดไป ถ้าเกิดการระบาดในรอบสองในประเทศไทย



          การตรวจพันธุกรรมของไวรัส จะเป็นตัวช่วยบ่งบอกที่มาของไวรัสว่าน่าจะมาจากแหล่งใด เพราะมีลักษณะแตกต่าง ที่เรียกว่า polymorphism เหมือนกับคนเรา ผิวขาว ผิวดำ ผิวเหลือง หรือ ผมสีบลอนด์ ผมสีดำ ตาสีฟ้า หรือ ตาสีน้ำตาล ที่เกิดโดยธรรมชาติไม่ใช่ไปย้อมมา การถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส จะบ่งบอกเอกลักษณ์ของตัวไวรัส เมื่อนำมาเปรียบเทียบ ก็อาจพอจะบอกได้ว่าใกล้เคียงหรือมาจากแหล่งใด





 



 



 



CR:Facebook Yong Poovorawan



 



 

ข่าวทั้งหมด

X