สศช.เผยวงเงินที่ขอใช้ในโครงการฟื้นฟูศก.เกินงบฯที่ตั้งไว้เท่าตัว
ส่วนราชการและส่วนจังหวัด เสนอโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท มาที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. มีข้อเสนอโครงการเบื้องต้น เผยแพร่ในเว็บไซต์ ThaiME ของสศช.แล้ว รวมกว่า 34,263 โครงการ วงเงินรวมสูงถึง 841,269 ล้านบาท เกินจากกรอบวงเงินที่ตั้งไว้ 400,000 ล้านบาทเกินเท่าตัว
-แผนงานที่ 1 เป็นโครงการประเภทการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวม 164 โครงการ วงเงินรวม 284,302 ล้านบาท
-แผนงานที่ 2 เป็นโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ล่าสุดมีโครงการเสนอเข้ามามากที่สุด รวม 33,798 โครงการ วงเงินรวม 465,023 ล้านบาท
-แผนงานที่ 3 เป็นโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ยังไม่มีข้อเสนอรอกระทรวงการคลังเสนอ
-แผนงานที่ 4 เป็นโครงการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิตรวม 301 โครงการ วงเงินรวม 91,942 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนจากนี้ สศช.จะมีการกลั่นกรองโครงการอีกครั้ง โดยเลือกเฉพาะโครงการจำเป็นเร่งด่วน และต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท
ส.ว.ขออย่าลักไก่ พิจารณาให้รอบคอบโครงการที่ขอใช้งบฯ 400,000 ล้าน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการยื่นโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท กับสศช.ว่า โครงการที่เสนอมาแล้วกว่า 800,000 ล้านบาท มีโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูจากโรคโควิด-19เป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 70-80 ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น โครงการก่อสร้างถนน 10,150 เส้น ประปา 1,483 โครงการ และใช้เครื่องจักรเป็นตัวก่อสร้าง เป็นโครงการที่ควรอยู่ในงบประมาณปกติที่มีเงินอยู่แล้ว 600,000 ล้านบาท เพราะผู้ที่จะได้รับเงินก็คือผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยที่ไม่เกิดการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการซื้อกล้อง CCTV เงินออกนอกประเทศอีกกว่าร้อยละ 90 รวมทั้งโครงการปะการังเทียมที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทำจริงหรือไม่ ดังนั้น จึงฝากกรรมการพิจารณาโครงการให้ตัดทิ้งทั้งหมด เนื่องจากบางโครงการก็เป็นโครงการปัดฝุ่น ตัดต่อพันธุกรรม บางครั้งเป็นโครงการที่ถูกตีตกแล้วตัดแปะชื่อโครงการ ด้วยการปรับเปลี่ยนชื่อให้มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ดังนั้น งบประมาณที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนเหล่านี้ ควรอยู่ในงบประมาณปกติที่มีกระบวนการการกลั่นกรองตามระบบ 1 ปี ขออย่าลักไก่ ควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ
นายสมชาย ขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ เน้นการจ้างแรงงานเป็นหลัก โดยเสนอให้นำเงินมาจ้างงานเด็กจบใหม่ในพื้นที่ หรือคนที่ตกงานในพื้นที่ มาทำงานที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้ เช่น เครื่องมือทำการเกษตร การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น
ก.คลัง สร้างศก.ฐานราก-สร้างงาน ตามโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกัน
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม แต่รัฐบาลยังต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากผลกระทบดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราไม่ทิ้งกันจ่ายเยียวยา 5,000 บาท อาชีพอิสระ 15.1 ล้านคน เกษตรกรอีก 10 ล้านคน และประกันสังคม เพราะจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของการฟื้นฟู
ในส่วนของกระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินหน้าโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกัน ส่งทีมเราไม่ทิ้งกันกระจายไปช่วยเหลือชาวบ้านทั่วประเทศ วันที่ 18 มิถุนายน 2563 จะเดินทางไปร่วมงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมาร่วมงานด้วย เน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เช่น การสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน เพราะมีประชาชนกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก จึงต้องทำให้มีงานมีรายได้ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กระทรวงการคลัง ได้เตรียมแผนงานและวางยุทธศาสตร์ไว้หมดแล้ว ซึ่งบางส่วนเริ่มดำเนินการไปแล้ว เชื่อว่าหากดำเนินตามนโยบายที่นายสมคิดมอบไว้จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแน่นอน
การเปิดรับนทท.ตามแนวทาง travel bubble เน้นเฉพาะกลุ่ม-ตามตัวได้
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มั่นใจในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของไทย จึงได้ผลักดัน travel bubble หรือ การจับคู่ประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีด้านการท่องเที่ยวแบบใหม่ เบื้องต้น ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการหารือระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการเจรจากับประเทศกลุ่มเป้าหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาด ก่อนเสนอ ศบค.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้
-ระยะแรก จะเปิดรับกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย คาดว่า จะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณวันละ 1,000 คน ซึ่งเมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง แล้วพบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็จะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ เข้ามาตามลำดับ
-การเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแนวทาง travel bubble จะไม่มีการกักตัว 14 วัน แต่มีมาตรการอื่นรองรับ เพื่อสร้างความไม่มั่นใจในความปลอดภัย โดยเริ่มจากการเลือกประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีความปลอดภัย สามารถควบคุมโรคได้ดี ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทางและตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงไทย
-อาจกำหนดพื้นที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้
-มีการติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชันตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย
แฟ้มภาพ