ตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ควบคุมตัวนายบุญช่วย เจริญสถาพร อายุ 80 ปี และนายกิตติพงษ์ เจริญสถาพร อายุ 43 ปี บุตรชาย ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “เบิกความเท็จต่อศาล ,ให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ และร่วมกันยักยอกทรัพย์ มาสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราบ หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีฮุบที่ดินธรณีสงฆ์ 3,800 ไร่ ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ จ.จันทบุรี มาเป็นของตัวเอง
พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม กล่าวว่า เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสองยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีรายงานจากชุดจับกุมว่าในการเข้าตรวจค้นบ้านพักขณะแสดงหมายจับเข้าจับกุมทั้งสองไม่พบเอกสารหลักฐานใดเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน แต่ในทางคดีผู้ต้องหาได้สร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา โดยหลังจากมีการซื้อขายที่ดินดังกล่าวในปี 2515 แล้วทางมูลนิธิฯได้มอบหมายให้นายบุญช่วยเป็นผู้ดูแล ต่อมาในปี 2550 นายบุญช่วยได้สร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา เปลี่ยนแปลงชื่อ เอกสารครอบครอง นส. 3 และขอออกโฉนด เป็นชื่อของตัวเองในปี 2553 ยอมรับว่าในการสร้างหลักฐานเท็จนั้นต้องมีคนร่วมกระทำผิดมากกว่า 2 คน แต่บางคดีก็หมดอายุความไปแล้ว แต่ไม่หนักใจ เพราะมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุจริง
กรณีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุได้ส่งตัวแทนเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ป. เพื่อแจ้งความเอาผิดนายบุญช่วย ซึ่งเป็นน้องชายของพระกิตติวุฑโฒภิกขุ อดีตประธานมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ ยักยอกที่ดินในพื้นที่ ต.พลวง ต.ตะเคียนทอง อ.เขาคิชฌกูฏ และบางส่วนใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ของมูลนิธิจำนวน 3,800 ไร่ไปเป็นของตนเอง โดยมีการสวมสิทธิการครอบครองและนำไปออกโฉนดโดยมิชอบ ภายหลังรับเรื่องทางเจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดีดังกล่าวจึงได้นำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กระทั่งพบว่า เดิมทีที่ดินผืนนี้เป็นที่ดิน ส.ป.ก. มีนายสมพล โกศลานันท์ เป็นผู้ครอบครอง จนประมาณปี 2513-2515 พระกิตติวุฑโฒ ได้ก่อตั้งมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย พร้อมกับเปิดรับบริจาครวบรวมเงินของชาวบ้านมาเป็นทุนซื้อที่ดินผืนดังกล่าวจากนายสมพล เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆของพระสงฆ์ ในราคา 12 ล้านบาท แต่จ่ายเงินไปเพียง 8 ล้านบาท อีก 4 ล้านบาทยังไม่ได้ชำระ แต่นายสมพล เห็นว่าจะนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ทางศาสนาจึงมอบที่ดินให้ไปใช้ประโยชน์ก่อน
หลังจากได้ที่ดินมาแล้วพระกิตติวุฑโฒ ได้มอบหมายให้นายบุญช่วย น้องชายเป็นผู้ดูแลที่ดิน แต่เมื่อพระกิตติวุฑโฒ มรณภาพลงในปี 2548 นายบุญช่วยและบุตรชายกลับเริ่มวางแผนที่จะเข้าครอบครองที่ดินผืนดังกล่าว โดยในปี 2550 นายบุญช่วยได้ไปยื่นเรื่องฟ้องร้องนายเรวัฒิ โกศลานันท์ ลูกชายของนายสมพล ในฐานะเป็นผู้รับมรดกเพื่อให้โอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตัวเอง โดยมีนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความชื่อดังเป็นทีมทนายความ กระทั่งศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาให้ทายาทของนายสมพล โอนที่ดินดังกล่าวไปเป็นชื่อของนายบุญช่วย ตามที่ร้องขอ
จากนั้นปี 2554-2555 นายบุญช่วยได้ไปยื่นขอเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดินเพื่อทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้ น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิท และ พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นหลานของนายสมพล เริ่มพบเห็นความผิดปกติ และเกิดความไม่พอใจเพราะเห็นว่าที่ดินดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางศาสนาตามวัตถุประสงค์เดิม จึงเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความหลายคดี และทางฝ่ายทายาทแพ้คดีมาโดยตลอด
รวมถึงยังลุกลามบานปลายจนกลายเป็นมูลเหตุทำให้ พล.ต.ต.ธารินทร์ ตัดสินใจใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่นายบัญชา,นางสุภาพร ภรรยานายบัญชา, นายวิชัย อุดมธนภัทร และนายวิจัย สุขรมย์ ทีมทนายความภายในศาลจังหวัดจันทบุรี ขณะกำลังรอพยานฝ่ายจำเลยและรอผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์นัดสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดแรก เพื่อรับฟังการพิจารณาคดีการฟ้องร้องทางแพ่งปลีกย่อยเกี่ยวกับที่ดินผืนดังกล่าว จนเป็นเหตุให้นายบัญชา และนายวิจัย เสียชีวิต ส่วนนางสุภาพร และนายวิชัย ได้รับบาดเจ็บสาหัส
ขณะที่ พล.ต.ต.ธารินทร์ ภายหลังก่อเหตุได้ถูกนายธนากร ธีรวโรดม เสมียนทนายนำอาวุธปืนของ ร.ต.อ.ขจร บรรจง ตำรวจประจำศาลจังหวัดจันทบุรี ยิงใส่จนเสียชีวิตด้วยเช่นกัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ภายหลังเกิดเรื่องขึ้นมาทำให้คดีดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจจากสังคม ด้วยเหตุนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กองบังคับการปราบปรามจึงรับโอนสำนวนคดีทั้งหมดมาอยู่ในความดูแล พร้อมกับสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงจนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานนำไปสู่การขอศาลอาญาออกหมายจับและเข้าจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 คนที่บ้านพัก ในจังหวัดจันทบุรี