กทม.เคาะ 2 รูปแบบการสอนของโรงเรียนในสังกัด
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักการศึกษา รายงานการเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด ที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โรงเรียนในสังกัดแบ่งตามจำนวนนักเรียนดังนี้
1.โรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียนไม่เกิน 400 คน
2.โรงเรียนขนาดกลาง นักเรียน 401-800 คน
3.โรงเรียนขนาดใหญ่ นักเรียน 801-1,500 คน
สำนักการศึกษา เตรียมแนวทางจัดการเรียนการสอน 2 รูปแบบ ได้แก่
1.โรงเรียนขนาดเล็ก 204 แห่ง จะจัดให้มีการสอนตามปกติ นักเรียนมาโรงเรียนทุกวัน แต่รักษาระยะห่างทางสังคมทั้งเวลาเรียน เวลาพักและรับประทานอาหาร
2.โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 233 แห่ง จัดการสอน 2 รูปแบบ คือ
2.1. รูปแบบที่ 1 โรงเรียนขนาดกลาง ใช้วิธีสลับวันเรียนทั้งหมด เช่น
-ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) ระดับประถมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนวันอังคาร วันพฤหัสฯ
-ระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เรียนวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์
ในช่วงที่นักเรียนไม่ได้มาเรียนในวันปกติจะใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านทาง Online และ On Air ให้ครูเข้ามาควบคุมดูแลจัดการเรียนรู้ มอบแบบฝึกหัด การบ้าน ใบงานหรือกิจกรรมให้ไปทำที่บ้าน
2.2.รูปแบบที่ 2 โรงเรียนขนาดใหญ่
-ระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษาตอนต้น ให้จัดการเรียนตามปกติ
-ระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษา ให้สลับวันมาเรียน
ทั้งนี้ให้สถานศึกษาพิจารณาการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 1-20 มิ.ย. สำนักการศึกษาจะได้ตรวจความพร้อมของโรงเรียนที่จะจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานอีกครั้ง
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า แม้ไม่พบการติดเชื้อในชุมชน 14 วัน แต่ขอความร่วมมือประชน อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือและขอให้มีการพิจารณาให้ดีในการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเดินทางไปในสถานที่เสี่ยงหรือแออัด ว่าสมควรเข้าไปหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าดูจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ปลอดเชื้อ 55 วันต่อเนื่อง ยังไม่ผ่อนคลายเปิดน่านฟ้าได้ เพราะฉะนั้นไม่มีการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ แม้กระทั่งคนเวียดนามในต่างประเทศยังไม่ให้เข้า
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย โควิด -19 ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่ม-เครียด-ซึม
นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต จัดทำกราฟที่บอกถึงผลกระทบระยะยาวจากโควิด-19
-คลื่นลูกที่ 1 ช่วงระบาดและมีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงสุด ช่วงนี้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมรองรับผู้ป่วยมากขึ้น
-คลื่นลูกที่ 2 ผู้ป่วยที่ถูกเลื่อนการรักษาก่อนหน้านี้ เช่น ผ่าตัด และกลับเข้าสู่กระบวนการรักษาอีกครั้งและมากขึ้น
-คลื่นลูกที่ 3 ผู้ป่วยเรื้อรังที่แพทย์อาจให้ยากลับไปรับประทานนานขึ้น เช่น กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังรวมถึงจิตเวช
-คลื่นลูกที่ 4 เป็นที่กังวลมากคือผลกระทบทางจิตเวชจากภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนบางส่วนอาจมีความเครียดซึมเศร้า บางคนมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ตอนนี้ไทยอยู่ที่คลื่น 3 และ 4 หากไม่มีการระบาดรอบใหม่ จะมีผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น
สถานทูตไทย เผยคนไทยติดเชื้อในอียิปต์ 38 คน
เฟซบุ๊ก สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โพสต์ข้อความว่า ตามที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สัญชาติไทยในอียิปต์ สถานเอกอัครราชทูตไทย ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. สถานเอกอัครราชทูตไทย ตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากคนที่จะเดินทางโดยเที่ยวบินพิเศษเส้นทางกรุงไคโร-กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 มิ.ย. จำนวน 220 คน และผู้ที่มีรายชื่อสำรอง 10 คน สถานเอกอัครราชทูตไทย พบว่ามีผู้ที่ไม่ผ่านการคัดกรองจำนวน 19 คน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทย ได้ประสานงานกับบุคคลดังกล่าว และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตไทย จะติดตามความคืบหน้า เกี่ยวกับสุขภาพของกลุ่มบุคคลดังกล่าว จากกระทรวงสาธารณสุขอียิปต์อย่างใกล้ชิด ต่อไป
นอกจากนี้สถานเอกอัครราชทูตไทย ได้ดำเนินการฆ่าเชื้อโรคที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ภายหลังจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เสร็จสิ้นแล้ว โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ตามปกติ และในวันที่ 8 มิ.ย.มีคนไทยในอียิปต์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 38 คน รักษาหายแล้ว 1 คน
CR:facebook Royal Thai Embassy, Cairo