กรมชลประทาน ติดตามศึกษาดูงานการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ต่างๆจากอดีตจนถึงปัจจุบัน นายรพีพล ทับทิมทอง วิทยากรอาวุโส ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ในอดีตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้ฟื้นฟูพื้นที่ ตั้งแต่ปี2525 เพราะแต่เดิมพื้นที่แถบนี้มีความแห้งแล้งมาก โดยการพัฒนามีจุดมุ่งหมายให้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีต้นทางเป็นป่า ปลายทางเป็นประมง และระหว่างทางเป็นเกษตรกรรม จุดเปลี่ยนความแห้งแล้งให้กลายเป็นป่าที่ชุมชื้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้ ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ลายมาที่ห้วยฮ่องไคร้ โดยใช้ท่อส่งน้ำมาในระยะทาง10กิโลเมตร และให้ทำฝายกักน้ำเพื่อชะลอการไหลของน้ำตามพื้นที่ต่างๆ และเมื่อน้ำล้นฝาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้ ขุดคูน้ำขนาด1หน้าจอบแยกเป็นสาขาออกจากฝาย เรียกว่า คูไส้ไก่ และให้ขุดแยกจากคูไส่ไก่แตกสาขาออกไปอีก เรียกว่า คูก้างปลา ซึ่งทั้งคูไส้ไก่ และคูก้างปลา เป็นการขุดคูโดยไม่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการวัดแนวระดับต่างๆ แต่เป็นการขุดคูโดยดูทิศทางของน้ำว่าไหลไปทางไหนก็ให้ขุดตามไป ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ทั้งหมดเพราะจะมีคูเล็กๆแตกสาขาไปในพื้นที่โดยรอบถึงเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด ซึ่งจากปี2525 จนถึงตอนนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ เปลี่ยนแปลงจากพื้นที่แห้งแล้งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก จากเดิมที่เคยมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่าพื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ หรือเรียกง่ายๆว่า ร้อนมากกว่าตัวเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า อากาศเย็นกว่า และมีความร่มรื่นมากกว่า นอกจากนี้ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ยังมีศูนย์ศึกษาเรียนรู้งานด้านต่างๆมากมาย กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ
บุศรินทร์