ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น.ประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2563
เตรียมปรับเริ่มเวลา‘เคอร์ฟิว’เป็น 23.00 น.ถึง04.00 น.
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลาย การบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ครั้งที่ 1/2563 ที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ประเด็นสำคัญในการประชุมอยู่ที่การคลายล็อกกิจการ/กิจกรรม ในระยะที่ 2 ที่ประชุมได้นำเรื่องช่วงระยะเวลาเคอร์ฟิว จากเวลา 22.00-04.00 น. มาหารือ เพื่อคลายล็อกมากยิ่งขึ้น
รายงานข่าว ระบุว่า มีแนวโน้มที่จะมีการขยับเวลาช่วงเริ่มการเคอร์ฟิวออกไป 1 ชั่วโมง จากเดิมเวลา 22.00 น. เป็น 23.00 น. แต่คงเวลาสิ้นสุดที่ 04.00 น. เช่นเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของประชาชน โดยจะนำข้อเสนอนี้เข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
ส่วนรายละเอียดของมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ โฆษก ศบค. ออกมาเปิดเผย ร่างกิจการและกิจกรรมที่จะมีการคลายล็อกมากขึ้น แต่อาจจะมีเพิ่มเติม เช่น ทีมถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ จากเดิมที่ระบุไว้ไม่เกิน 5 คน อาจจะเพิ่มเป็น 10 คน เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงาน เป็นต้น
‘ภูเก็ต’ไม่พบติดเชื้อ‘โควิด’ 4 วัน รักษาตัวอยู่รพ. 24 คน อาการอยู่ในเกณฑ์ดี
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต รายงานว่า ในวันนี้ ภูเก็ตไม่พบผู้ติดเชื้อ เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน โดยตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม-13 พฤษภาคม 2563 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 224 คน มีผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาต ให้กลับบ้าน 196 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 3 ราย อยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลอยู่ 24 คน ทุกคนอาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 6,037 คน (รายใหม่ 110 คน) ยังคงรักษาพยาบาล 92 คน(เป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน 24 คน อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 68 คน) กลับบ้านแล้ว 5,945 คน ผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก 4,035 คน(พบเชื้อ 38 คน)
ขยายเวลารับร้องทุกข์ เงินเยียวยา 5,000บาท จาก 17 พ.ค.ไปถึง 29 พ.ค.63 ผ่านธนาคารรัฐทั่วประเทศ
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(15 พ.ค.)จะมีการปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์เงินเยียวยา 5,000 บาทในโครงการ"เราไม่ทิ้งกัน"ที่กรมประชาสัมพันธ์ แต่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง มองว่ายังมีประชาชนที่ตกหล่นต้องการมาร้องทุกข์อีกจำนวนมากจึงสั่งการให้ขยายเวลาการรับเรื่องร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่ 18-29 พ.ค.2563 โดยจะเปิดรับร้องทุกข์และสอบถามข้อมูลได้ที่ธนาคารของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน,ธนาคารกรุงไทยและธนาคาร ธกส.ทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ยังเดือดร้อนซึ่งจะเปิดในวันเวลาราชการ
จีนมั่นใจรับมือ โควิด-19 ระบาดรอบที่ 2 ได้
นายอู่ ซุนโย่ว หัวหน้านักระบาดวิทยาแห่งศูนย์ควบคุมและป้องโรคของจีน แสดงความมั่นใจว่าจีนสามารถรับมือป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดโควิด-19 รอบ 2 ด้วยการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว หลังพบการระบาดแบบกลุ่มก้อนครั้งใหม่ในเมืองซูหลาน มณฑลจี๋หลิน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์ในการต่อสู้กับ โควิด-19 มานานกว่า 3 เดือน
ขณะที่คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน เตือนถึงความเสี่ยงจากการระบาดแบบกลุ่มก้อนว่าประชาชนไม่ควรเพิกเฉยและจะต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการระบาดรอบใหม่
ด้านบริษัทต่างชาติในจีนต่างเตรียมพร้อมที่กลับมาเริ่มดำเนินธุรกิจอีกครั้ง หลังรัฐบาลของประเทศต่างๆกำลังผลักดันภาคการผลิตให้เดินหน้าเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19
ส่วนสหภาพยุโรปกำลังผลักดันให้มีการเปิดพรมแดนแบบค่อยเป็นค่อยไประหว่างชาติสมาชิกของกลุ่ม เพื่อเปิดการท่องเที่ยวระหว่างกันในช่วงฤดูร้อนในความพยายามที่จะฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 โดยต้องการให้มีการกลับมาเดินทางได้อย่างเสรีในยุโรปภายใต้มาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างบนเครื่องบินและรถไฟ
ญี่ปุ่นยกเลิกภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ส่วนใหญ่ ยกเว้นโตเกียวและโอซาก้า
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเลิกการบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมโควิด-19 ใน 39 จังหวัดจากทั้งประเทศ 47 จังหวัดในวันนี้ (14 พ.ค.) โดยในกรณีของกรุงโตเกียวและโอซาก้าที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากยังคงให้ใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อไป
ประเทศญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนลดการติดต่อระหว่างบุคคล ชะลอการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา และลดความตึงเครียดในการให้บริการทางการแพทย์ แต่ประกาศฉบับนี้ไม่มีโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม ธุรกิจบางอย่างจึงเปิดทำการแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักก็ตาม
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ยังมีแนวปฏิบัติเหมือนผู้นำหลายประเทศคือการสร้างสมดุลระหว่างการป้องกันโรคระบาดควบคู่ไปกับการจำกัดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการปิดระบบเป็นเวลานาน เขากล่าวในสัปดาห์นี้ว่าจะเพิ่มนักเศรษฐศาสตร์ 4 คนในคณะที่ปรึกษา
ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อสะสม 16,100 คนไม่รวมผู้ป่วยจากเรือสำราญที่กักตัวไว้ก่อนหน้านี้ที่โยโกฮามาและมีผู้เสียชีวิตแล้ว 696 ราย
พูดเบาๆ ระวังน้ำลาย แพร่เชื้อไวรัสโคโรนา
สถาบันโรคเบาหวาน โรคทางเดินอาหาร และโรคไต แห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นไอดีดีเค เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยในวารสารพีเอ็นเอเอส เมื่อกลางสัปดาห์นี้ว่า ละอองน้ำลายขนาดเล็กจากการพูดของมนุษย์ สามารถคงอยู่ในอากาศในสภาพพื้นที่ปิดได้เป็นระยะเวลานานถึง 12 นาที สะท้อนว่า น้ำลาย อาจเป็นพาหะแพร่เชื้อโรค รวมถึงเชื้อไวรัสอย่างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้กับบุคคลที่ได้พูดคุยกันได้
คณะผู้ศึกษาวิจัย ได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างพูดวลีว่า “รักษาสุขภาพ” ซ้ำๆ กันเป็นเวลา 25 วินาที ในกล่องปิด แล้วฉายแสงเลเซอร์เข้าไป ก็ได้พบกับละอองน้ำลายขนาดเล็กอยู่ในอากาศภายในกล่องปิดดังกล่าว เป็นเวลานานเฉลี่ยถึง 12 นาทีด้วยกัน
ผลการศึกษาวิจัยยังระบุด้วยว่า ความดังของเสียงพูดคุย มีผลต่อปริมาณละอองน้ำลาย โดยยิ่งพูดค่อยลง ก็ยิ่งทำให้ปริมาณละอองน้ำลายน้อยลงไปด้วย คณะผู้ศึกษาวิจัย ยังสนับสนุนต่อมาตรการสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค รวมถึงเชื้อไวรัสโควิด-19
“บรรยง”แจงฟื้นฟูบินไทยตามกม.ล้มละลายไม่ใช่ปล่อยเจ๊ง ยกกรณี “JAL-สวิสแอร์” กลับมาแข็งแรง
ข้อเสนอของที่ปรึกษาการเงินให้ บมจ.การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลาย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2563 ระบุว่า โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายนั้น ยังไม่ใช่การปล่อย หรือการยอมล้มละลายนะครับ
มันเป็นกระบวนการ เพื่อให้ Stakeholders หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งมีและไม่มีหลักประกัน รวมไปถึงพนักงานได้มาร่วมตกลงกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยมีเป้าหมายแค่สองเป้าหมาย คือ
1.พยายามรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ของกิจการให้มีมากที่สุด ซึ่งในกรณีทั่วไปนั้น มูลค่าจะมากกว่าถ้าให้กิจการยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปได้ ย่อมมีค่ามากกว่าแบ่งขายทรัพย์สินมาก
2.แบ่งปันมูลค่านั้นให้แก่ Stakeholders ทั้งหลายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งตามหลักสากล ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับสิทธิ์ก่อน ถัดไปก็เป็นเจ้าหนี้มีประกัน และตามด้วยเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เหลือจึงจะเป็นของผู้ถือหุ้น แต่ใครจะได้เมื่อไหร่ เท่าใดก็เป็นเรื่องที่จะต้องใช้กระบวนการตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องพึ่งศาล แต่ถ้าเดินต่อไม่ได้จนศาลสั่งให้ล้มละลาย ถึงจะชำระบัญชี จำหน่ายทรัพย์สิน แล้วมาแบ่งกันตามลำดับกฎหมาย
ในการจะฟื้นฟูกิจการ ส่วนมากจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพิ่มเพื่อให้ดำเนินการต่อได้ (เพื่อ economic value ที่มากกว่านั่นแหละครับ) ดังนั้นคนที่ใส่เงินเพิ่มจึงมักจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่า เช่น อาจจะเป็นเจ้าหนี้ที่ลำดับชั้นสูงกว่า มีสิทธิ์ได้คืนก่อนเมื่อกิจการปกติ หรือได้ก่อนแม้สุดท้ายต้องชำระบัญชี หรือมีสิทธิ์เปลี่ยนหนี้เป็นหุ้นถ้ากิจการดี เป็นต้น
สายการบินชั้นนำของโลกที่มีปัญหา เคยเข้าสู่กระบวนการนี้จำนวนมาก
– Pan Am ที่เคยใหญ่ที่สุดในโลก TWA ของอเมริกัน เข้า Chapter11 แล้วไปไม่รอด ล้มละลายไปนานแล้ว
– UNITED ที่ 2019 มีกำไรเกือบแสนล้านบาท ก็เคยเข้า Chapter11 ถึงสองครั้งและกลับมาแข็งแกร่งได้อีก (ครั้งหนึ่งใช้โอกาสนั้นลดประโยชน์อดีตพนักงานทั้งบำนาญมหาศาลทั้งสิทธิ์บินฟรีจนหมด…อันนี้น่าสนใจนะครับ)
– Swiss Air เคยฟื้นฟูจนกลับมาได้เป็นสายการบินแห่งชาติสวิสที่ Lufthansa ถือหุ้น 100% แล้วคนสวิสที่อยากถือก็ไปซื้อหุ้น Lufthansa ได้
-JAL เจ๊งจนต้องไปตามคุณปู่อินาโมริมาแก้จนกลับมาแข็งแกร่ง ปีที่แล้วกำไรสามหมื่นล้าน
-MAS ที่โชคร้ายปีเดียวเครื่องตกไปสองลำ ก็ต้องฟื้นฟูใหญ่ เข้าซบรัฐบาล (ซึ่งรัฐยอมให้เงินโดยซื้อเครื่องบินออกไปแล้วลีสกลับให้ถูกๆ)
อย่าไปกลัว อย่าไปอายกระบวนการฟื้นฟูอย่างนี้เลยครับ มันไม่ใช่การปล่อยล้มละลายอย่างที่สื่อบางรายเข้าใจผิด เอาไปโหมประโคม
แต่ถ้าใส่เงินไปเฉยๆ โดยที่ไม่ได้ผ่าตัดใหญ่ มันก็จะล้มละลายจริงในเร็ววันแหละครับ นอกจากล้มละลายแล้ว เงินที่ใส่มันก็จะละลายไปหมดเหมือนเทน้ำพริกใส่แม่น้ำด้วยครับ