*สตช.ปรับการทำงานสายด่วน191 เตรียมเสนอ ออก พ.ร.บ.เบอร์ฉุกเฉิน*

11 ธันวาคม 2557, 15:06น.


การตรวจสอบระบบการรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย หมายเลขโทรศัพท์191 ที่กองบังคับการตำรวจจราจร สาธิตขั้นตอนการทำงานและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ จริตเอก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) สั่งแก้ไขเร่งด่วนระยะแรก เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รับสายจากเอกชนจำนวน 40 คน และซ่อมแซมระบบโทรศัพท์ให้ใช้งานได้ครบทั้ง 15 จุด รองรับได้ 60 คู่สาย แต่ในช่วงเวลาเร่งด่วน 18.00-20.00 น. จะมีประชาชนโทรศัพท์เข้ามามากถึง 1,600-2,000 คู่สาย ทำให้การตอบสนองไม่เพียงพอ ส่วนในระยะที่2 สตช. สั่งเพิ่มจัดระบบโทรศัพท์อีก 15 จุด พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่จุดเสี่ยง 861 จุด เชื่อมต่อมายังส่วนกลางเพื่อเฝ้าระวังเหตุ และติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่มในระยะเร่งด่วน 283 จุด และระยะยาวอีก 244 จุด เพื่อป้องกันสถานที่เปลี่ยวให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาทางอ้อมในการลดอัตราการแจ้งเหตุจากประชาชน



ขณะที่พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวงทรง รองผู้บัญชาการสำนักยุทธศาสตร์ ระบุว่า สตช.เตรียมเสนอสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาออก พ.ร.บ.หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน กำหนดให้เบอร์191 เป็นเบอร์มาตรฐานในการแจ้งเหตุ เพื่อจัดตั้งคณะทำงานให้มีประสิทธิยิ่งขึ้นในระยะยาว



สำหรับสถิติการโทรศัพท์เข้าเบอร์191 พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบก.สปพ. ระบุว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน มีสายเรียกเข้าทั้งหมด 235,324 สาย เป็นสายที่โทรเล่นมากที่สุดร้อยละ54 รองลงมาเป็นสายที่โทรมาแล้ววางสายภายใน2-3วินาที ร้อยละ25 งานบริการร้อยละ13 นอกนั้นเป็นการแจ้งเหตุ แจ้งเบาะแส และร้องเรียน เพียงร้อยละ8 เท่านั้น ซึ่งเป็นสถิติที่ใกล้เคียงกันทุกเดือน ทั้งนี้ยังคงย้ำกับตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่าการปฏิเสธไม่รับสายหรือไม่รับแจ้งเหตุ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามกระทำโดยเด็ดขาด ส่วนสายที่โทรศัพท์มาก่อนกวน ได้ส่งตำรวจไปจับกุม ส่วนใหญ่พบเป็นเด็กในชุมชนจึงทำได้แค่ห้ามปราม ส่วนบางคนที่พบเป็นผู้ใหญ่ จะมีโทษปรับ 500 บาท ฐานก่อกวนและสร้างความรำคาญ



จากการสำรวจพบว่า ตลอดทั้งวันจะแบ่งการทำงานเป็น3กะ แต่ละกะมีเจ้าหน้าที่นั่งรับโทรศัพท์จำนวน 12 จุด ชำรุด 3 จุด จากทั้งหมด 15 จุด แต่ละจุดมีเจ้าหน้าที่ 2 คน เป็นตำรวจ 1 นาย และเจ้าหน้าที่เอกชน 1 คน สลับกันทำงานคนละ 2 ชั่วโมง จะได้พัก 1 ชั่วโมง เพื่อลดความเครียด จากการสุ่มสังเกตการรับสายโทรศัพท์ 10 ครั้ง พบเป็นการก่อกวนถึง 6 ครั้ง ส่วนสายใดเป็นการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย จะใช้เวลาซักถามชื่อ เบอร์ติดต่อกลับ จุดเกิดเหตุ และสถานการณ์ ประมาณ 3-5 นาที ก่อนส่งเรื่องต่อไปยังส่วนวิทยุ ประสานสถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุส่งสายตรวจติดตามต่อไป ส่วนเรื่องใดที่มิใช่เหตุด่วนเฉพาะหน้า จะมีการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลเท่านั้น



ทั้งนี้ตำรวจเชิญ นายนัฐวัฒน์ วเสถียร พลเมืองดีที่แจ้งพบศพบนตึกร้างกับ จส.100 เมื่อคืนวันที่ 5 ธันวาคม เข้าสังเกตการณ์ระบบการทำงานของตำรวจ191 โดยนายนัฐวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เข้าใจระบบการทำงานมากขึ้น และวอนผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาก่อกวนหยุดการกระทำดังกล่าว เพราะจะทำให้ผู้มีเหตุด่วนเหตุร้ายติดต่อเข้ามามิได้



อภิสุข

ข่าวทั้งหมด

X