ไพบูลย์ เสนอตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ยกเลิกสศช. ไม่คุ้มกับประโยชน์ทีได้รับ

11 ธันวาคม 2557, 11:30น.


การให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ 8 ภาค 3 หมวด 2 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกมธ.ระบุว่า จะเสนอให้บัญญัติการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมในทุกหน่วยงาน โดยต้องมีการตรวจสอบทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆของรัฐที่ได้รับงบประมาณจากรัฐ และเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(สว.) มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ และเสนอให้มีการจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชนประจำจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกได้ไม่เกิน 50 คน มีอำนาจตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อป้องกันการทุจริต และมีสิทธิฟ้องศาลได้โดยตรง  พร้อมกับเสนอให้มีการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบคุณธรรมและจริยธรรมนักการเมือง เชื่อว่าระบบตรวจสอบนี้จะช่วยแก้ปัญหาการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐได้ สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการให้สัมปทานของภาครัฐ ที่มีมูลค่าเกิน 1,000,000 บาทขึ้นไป หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอนในเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ ขณะที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คณะอนุกมธ.เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.)ควรปรับปรุงการทำงาน โดยจะเสนอให้กกต.ต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้สมัครสส.และสว. ทุกคนก่อนเลือกตั้ง ส่วนการตัดสินนักการเมืองหรือการพิจารณาคดีอาญาต่างๆ กกต.ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลตัดสินเท่านั้น พร้อมเสนอให้กกต.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียวเท่านั้น พร้อมเสนอให้ยกเลิก ปปช.ประจำจังหวัด แต่เพิ่มอำนาจให้ปปช.มีสิทธิฟ้องศาลปกครองได้ด้วย ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมาธิการฯเสนอให้ยกเลิกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสภาพัฒนาการเมือง โดยมองว่าไม่คุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวต้องรอฟังความเห็นจากคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.)อีกครั้ง



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X