จัดพื้นที่ 67 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัดใต้ กักคนไทยกลับจากต่างประเทศ
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เตรียมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม กองทัพภาคที่ 4 ในสัปดาห์หน้าเพื่อติดตามมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังมีคนไทยในประเทศอินโดนีเซีย และ กลุ่มต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย เดินทางกลับไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดเตรียมพื้นที่ควบคุมโรค Local Quarantine หรือศูนย์กักตัวโควิด-19 เพื่อกักตัวคนไทยที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ 4 จังหวัดและบางอำเภอใน จ.สงขลา รวม 67 แห่ง 2,495 ห้อง ขณะนี้ ได้ประสานกระทรวงต่างประเทศ สถานทูต กงสุลประเทศปลายทาง รวมถึงเตรียมพร้อมพื้นที่รองรับ การประเมินเบื้องต้นมีคนไทยตกค้างหลังประกาศปิดพรมแดน ในมาเลเซีย เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยความพร้อมรับคน เข้ามาแต่ละวันจาก 3 ด่าน รวมประมาณ 300 คน
เร่งจัดส่งห้องแยกผู้ป่วยแรงดันต่ำให้ 3 จังหวัดใต้
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับเหล่าทัพเพื่อติดตามการดำเนินงานของกองทัพในการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาโรคโควิด-19 โดยรับทราบรายงานความร่วมมือของกำลังพล ทหารทุกเหล่าทัพ ที่เข้าร่วมบริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทยไปแล้ว ปริมาณกว่า 1 ล้านมิลลิลิตร นอกจากนี้ ยังรับทราบความคืบหน้าการจัดสร้างห้องแยก ผู้ป่วยแรงดันต่ำ (Mobile Isolated Room for Patient) โดยความร่วมมือระหว่าง กรมแพทย์ทหารบก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันออกแบบ พัฒนาและจัดสร้างขึ้น สนับสนุน โรงพยาบาลต่างๆ สำหรับแยกผู้ป่วย ติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งผลิตเกือบ 200 ห้อง ซึ่งนายกฯรับทราบและขอบคุณความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ที่สร้างห้องแยกผู้ป่วยแรงดันต่ำสนับสนุนโรงพยาบาลต่างๆ และขอให้เร่งผลิตพิจารณาความเร่งด่วนสนับสนุนให้โรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนรองรับการดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาติดเชื้อมากขึ้น
มท.คาดคนไทยตกค้างในมาเลย์ประมาณ 7,000-8,000 คน
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุมติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของ โรคไวรัสโควิด-19 และหารือมาตรการช่วยเหลือดูแลคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านพรมแดนตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสของมาเลเซียว่าการช่วยคนไทยในมาเลเซีย รัฐบาลต้องรู้จำนวนตัวเลขที่ชัดเจนก่อน อาจเสนอให้ลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านสถานกงสุล หรือสถานทูตดูจำนวนคนไทย ที่ตกค้าง คาดว่ามีอยู่ประมาณ 7,000-8,000 คน เพื่อรัฐบาลจะได้เข้าไปดูแลเยียวยาเรื่องอาหาร ค่าใช้จ่าย ที่พักอาศัย เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ในมาเลเซียได้อย่างปกติ ถ้าเหตุการณ์ปกติแล้ว สามารถทำงานต่อไปได้ นายนิพนธ์ กล่าวว่า จะนำข้อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 เมษายน ส่วนจำนวนเงินที่ใช้ ต้องหารือ ครม.ก่อนเช่นเดียวกัน ในส่วนตัวกำชับข้อปฏิบัติเรื่องการเข้าออกระหว่างประเทศ ซึ่งพรมแดน ไทย-มาเลเซีย มีช่องทางธรรมชาติกว่า 70 จุด ซึ่งไม่ผ่านการคัดกรอง กลายเป็นความเสี่ยงที่สุด หากมีการผ่านจุดดังกล่าวมาได้ นอกจาก เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเข้มงวดแล้ว ความร่วมมือของ คนไทยเป็นสิ่งสำคัญ
คนไทยผ่านชายแดน 21 จังหวัด กำหนดจุดละ 100 คนต่อวัน
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กำชับไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการรับคนสัญชาติไทยกลับเข้ามาผ่านจุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดน 21 จังหวัด 23 ช่องทาง ในการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.2563 เป็นต้นไป ให้ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งต่างๆที่เกี่ยวข้องในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีการกำหนดจำนวนผู้เดินทางวันละไม่เกิน 100 คนต่อช่องทาง และต้องเข้ามาตามกำหนดวันและช่องทางผ่านแดนที่ระบุไว้ในหนังสือรับรอง โดยต้องเดินทางถึงช่องทางผ่านแดนก่อนเวลา 12.00น.
ผู้เดินทางต้องมีใบรับรองแพทย์ และหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งออกโดยสถานเอกอัครราชทูต, สถานกงสุลใหญ่ไทยประจำประเทศที่พำนัก และยินยอมกักตัวตามที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14 วัน โดยให้จังหวัดชายแดนที่เป็นช่องทางในการเดินทางเข้ามาดำเนินกระบวนการคัดกรองและกักกันผู้เดินทางเข้ามาทุกคนไว้เพื่อสังเกตอาการในสถานที่กักกันตัวของจังหวัด
กรมการแพทย์ ยืนยันเตียงดูแลผู้ป่วยทั้งกทม.-ต่างจังหวัด ประมาณ 7,000 เตียง
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยยืนยันว่า จากตัวเลขติดเชื้อในปัจจุบันเชื่อมั่นว่า จำนวนเตียงที่มีอยู่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้ วันนี้มีเตียงพร้อมอยู่ใน กทม.และปริมณฑล 105 แห่ง รวมทั้งหมด 1,978 เตียง แบ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ 9 แห่ง กรมการแพทย์ 8 แห่ง กรมควบคุมโรค 1 แห่ง กทม. 8 แห่ง กระทรวงกลาโหม 3 แห่ง โรงพยาบาลตำรวจ 1 แห่ง และเอกชนอีก 75 แห่ง รวมมีโรงพยาบาลทั้งสิ้น 105 แห่ง จำนวน 1,978 เตียง นอกจากนี้จะขยายเพิ่มเติม ในส่วนหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ รพ.ราชวิถี รพ.สนามธรรมศาสตร์ และรพ.จุฬาลงกรณ์ มีจำนวนเตียงกว่า 600 เตียง นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดมีอยู่ 5,000 เตียง มีเครื่อง ช่วยหายใจ 10,000 เครื่อง
ด้านนพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าคิดคำนวณจากตัวเลขผู้ติดเชื้อย้อนหลัง จากสถานการณ์ที่ผ่านมาจะพบว่า ผู้ป่วยยืนยัน 100 คน จะมีผู้ป่วยอาการรุนแรงประมาณ 5 คน ซึ่งถ้าหากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ ขณะนี้ มั่นใจว่า เราสามารถเตรียมทรัพยากรรองรับได้ ทั้งนี้ จึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัดต่อไป
ตามหาเจอแล้ว 3 บุคคลใกล้ชิดผู้เสียชีวิตโควิด-19 ที่นครศรีธรรมราช
กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 4 คน ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุคคลใกล้ชิดชายวัย 74 ผู้ป่วยรายที่ 7 ที่เสียชีวิตเป็นรายแรกของ จ.นครศรีธรรมราช นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช สั่งปิดหมู่บ้านพื้นที่ ต.บ้านลำนาว อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้เสียชีวิต โดยคนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า เจ้าหน้าที่สืบสวนโรค เปิดเผยว่า นอกจากผู้ใกล้ชิดในครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีกลุ่มบุคคลที่สุ่มเสี่ยงจะติดเชื้ออีก 3 คน ทั้งหมดใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต และเดินทางมาพักอยู่บ้านญาติใน ต.ทุ่งใส อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช น.ส.ปาณิศรา บุญกูล นักวิชาการสาธารณสุข ประจำ รพ.สต.บ้านเขาฝ้าย ต.ทุ่งใส อ.สิชล พร้อมเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปตามหาตัวบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้ง 3 คน ก่อนสอบสวนอย่างละเอียด ทำให้ทราบว่ามีการเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ แต่ยังอยู่ในพื้นที่ ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่จึงกำชับไม่ให้ออกไปยังสถานที่อื่น ๆ อีก หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการในการกักตัวที่ทางราชการกำหนดก็ต้องรายงานให้อำเภอสิชลและจังหวัดนครศรีธรรมราชทราบต่อไป
แฟ้มภาพ