ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30 น.วันอังคารที่ 15 เมษายน 2563

14 เมษายน 2563, 09:25น.


15 เม.ย.นนทบุรี เริ่มผ่อนปรนร้านค้า-แผงหวย-ตัดผม เปิดได้



          กรณีสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทุกจุดดำเนินการคุมเข้มมาตรการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ จนสามารถทำให้ยอดผู้ติดเชื้่อรายวันลดลง จังหวัดนนทบุรี แจ้งประชาชนในจังหวัดว่ากำลังดำเนินมาตรการผ่อนปรน โดยเปิดสถานที่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.2563 เป็นต้นไป ได้แก่ 



1.ร้านตัดผม เสริมสวย (เฉพาะทำผม)



2.ร้านรับส่งพัสดุ



3.แผงค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล



4.ร้านวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน



5.ร้านวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์



6.ศูนย์บริการทางโทรศัพท์มือถือ ระบบสื่อสาร



7.ร้านขายและซ่อมอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว



สำหรับสถานที่จำหน่ายสุรา จะขยายวันปิดไปจนถึง 30 เม.ย.2563



ในส่วนของสถานที่ที่เปิดบางเวลา หรือ เปิดบางส่วนต้องทำตามมาตรการดังนี้



1.ผู้รับบริการต้องสวมหน้ากากอนามัย



2.ผู้ให้บริการต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย



3.มีจุดคัดกรองผู้รับบริการ



4.มีจุดล้างมือ หรือ เจลล้างมือ ไว้บริการ



5.จัดสถานที่ไม่ให้แออัด มีระยะห่าง มากกว่า 1 เมตร หรือให้นัดคิวล่วงหน้า



6.มีช่องทางพิเศษสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป



7.รักษาความสะอาดพื้นที่ให้ถูกสุขลักษณะ



8.ร้านตัดผมต้องทำตามข้อ 1-7 และ ห้ามไม่ให้ลูกค้านั่งรอรับบริการ โดยช่างตัดผมต้องสวม Face Shield ใส่ถุงมือยางและห้ามใช้มีดโกนกับลูกค้า



กกร.คาดตกงานกว่า7,000,000ล้านคน เสนอช่วยกลุ่มที่สมัครใจหยุดงาน



          คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศจากทุกภาคส่วนมีประมาณ 38 ล้านคน สภาหอการค้าไทย คาดว่า จะมีแรงงานตกงานประมาณ 7,100,000 คน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อธุรกิจบริการและผลจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แบ่งเป็นธุรกิจบันเทิง คาดว่า จะตกงาน 80,000 คน ร้านอาหาร 375,000 คน สปาและร้านนวดทั้งในและนอกระบบ ประมาณ 240,000 คน โรงแรม 980,000 คน ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4,200,000 คน ภาคอสังหาริมทรัพย์ 77,000 คน ธุรกิจก่อสร้าง 1,000,000 คน และสิ่งทอ 200,000 คน



          กกร.ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานที่สมัครใจหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน ซึ่งไม่มีสิทธิขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากภาครัฐ ขอให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินช่วยเหลือร้อยละ 50 ของเงินเดือน ขณะเดียวกันขอให้ภาครัฐ ออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมหรืองานบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการจากรัฐบาล



ก.เกษตรฯ เตรียมเสนองบฯเกือบ1000,000 ล้านบาทช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร



          การให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอจัดทำโครงการเร่งด่วนรองรับผลกระทบภัยแล้งและโควิด-19 วงเงิน 95,543.11 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินในส่วนมาตรการดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 รัฐบาลกันงบประมาณสำหรับเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบไว้ประมาณ 600,000 ล้านบาท



          สำหรับวงเงินที่จะเสนอขอจำนวน 95,543.11 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน



-1.งบประมาณแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรจากวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 61,531.53 ล้านบาท เช่น การชดเชยรายได้และค่าครองชีพให้ครัวเรือนเกษตรกร 50,558.95 ล้านบาท แบ่งเป็น การประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 2 จำนวน 35,196.65 ล้านบาท



2.สนับสนุนค่าครองชีพให้ครัวเรือนเกษตรกร 15,362.3 ล้านบาท ด้วยการชะลอการขายยางของเกษตรกรชาวสวนยาง การจัดหาถุงเกษตรยังชีพ เพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 15 ล้านครัวเรือน



บีโอไอ เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์



          น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติมาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 นาน 3 ปี ให้กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพิ่มเติมจากปกติจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปีอยู่แล้ว เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึง Non-Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เป็นต้น มาตรการนี้จะครอบคลุมถึงโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2563 ต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563 ต้องจำหน่ายหรือบริจาคภายในประเทศ อย่างน้อยร้อยละ 50 ทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยต้องนำเข้าภายในปี 2563



ประธานสลากฯ ประชุม15 เม.ย.ตัดสินใจเรื่องการเลื่อนออกรางวัล



          สมาพันธ์คนพิการผู้ค้าสลากประเทศไทย ยื่นจดหมายถึง นายพชร อนันตศิลป์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ขอให้พิจารณาเลื่อนการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นรอบที่ 2 จากเดิมที่เลื่อนไปออกวันที่ 2 พ.ค.2563 ขอให้เลื่อนออกไปอีกเป็นวันที่ 16 พ.ค. 2563 แทน  นายอำนวย กลิ่นอยู่ ประธานสมาพันธ์คนพิการผู้ค้าสลากประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากผู้ค้าสลากไม่สามารถขายสลากได้ เนื่องจาก มาตรการที่เข้มข้นของรัฐบาลในการคุมการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ ประชาชนก็ไม่สามารถออกมาข้างนอกเพื่อหาซื้อสลากได้เช่นกัน และหากรัฐบาลยังจะออกรางวัลตามกำหนดการเดิมคือในวันที่ 2 พ.ค. ก็จะทำให้ผู้ค้าสลากมีเวลาจำหน่ายสลากได้เพียง ไม่ถึง 2 วันเท่านั้น คือวันที่ 1 พ.ค. และวันที่ 2 พ.ค.อีกครึ่งวัน ซึ่งจะทำให้สลากขายไม่หมด สลากเหลือ ผู้ค้าก็ขาดทุน ไม่มีเงินไปลงทุนในงวดต่อไป อีกทั้งยังอาจจะเกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อครั้งใหม่



          นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต และประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 15 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการสลากฯ นัดเร่งด่วนเพื่อพิจารณาข้อเสนอจากสมาพันธ์คนพิการผู้ค้าสลากประเทศไทย เป็นการประเมินผลกระทบทั้งผู้ซื้อรวมถึงผู้ขายลอตเตอรี่ที่ซื้อไปแล้วและที่สำคัญความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่



CR:Facebook จ.นนทบุรี  



 



 

ข่าวทั้งหมด

X