ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563

27 มีนาคม 2563, 07:18น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันศุกร์ที่ 27  มีนาคม 2563



โควิด-19 ในไทย ผู้ติดเชื้อสะสม 1,045 คน



            สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ประจำวันว่า สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น 111 คน กลับบ้าน 18 คน รวมกลับบ้านแล้ว 88 คน ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 953 คน อาการหนัก 4 คน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต 4 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,045 8oราย ถือเป็นรายที่ 935-1,045



          ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น 111 ตน แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 สัมผัสผู้ป่วยจากสนามมวย 6 คน สถานบันเทิง 3 คน สัมผัสกับที่รายงานแล้ว 19 คน เกี่ยวกับการร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่มาเลเซีย 1 คน กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยใหม่ 19 คน เดินทางจากต่างประเทศ ชาวไทย 5 คน ชาวอเมริกัน 1 คน ทำงานอาศัยในสถานที่แออัดและสัมผัสกับชาวต่างชาติ 9 คน อาทิ สถานบันเทิง พนักงานขับรถ พนักงานโรงแรม พนักงานบริษัท บุคลากรทางการแพทย์ 3 คน เป็นหมอ 2 คนพยาบาล 1 คนผู้ป่วยไม่ได้แจ้งว่ามีการสัมผัสเสี่ยงสูงหรือติดเชื้อโควิด-19 รวมแล้วมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 9 คนและผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 1 คนและกลุ่มที่ 3 เป็นผู้ป่วยรอสอบประวัติและผลสวบสวนโรค 63 คน



ผอ.รพ.ปากน้ำติดเชื้อ-กักตัว14วัน



ความเคลื่อนไหวสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในหลายจังหวัด ยังน่าเป็นห่วง โดยพบผุ้ติดเชื้อต่อเนื่องหลายพื้นที่ โดยนพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคยอมรับว่า ขณะนี้ นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผอ.รพ.สมุทรปราการ ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ออกมาช่วงเช้าวันที่26 มีนาคม อยู่ระหว่างสอบสวนโรค เพราะยังไม่แน่ชัดว่า สาเหตุติดเชื้อมาจากสถานที่ใด เนื่องจากเป็นฝ่ายบริหารต้องไปประชุมหลายสถานที่ เบื้องต้นบุคคลใกล้ชิดทั้งที่บ้านและที่ทำงานอีก 20 คน กักตัวเองอยู่ที่บ้านอดูอาการเช่นกัน



ยะลาหมอ-พยาบาลกักตัว 21 คน



            นายสงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาออกประกาศสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา กรณี พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในบุคลากรสาธารณสุข ระบุ จากวันที่ 22-25 มีนาคม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาได้รับรายงานจากโรงพยาบาลบันนังสตา พบบุคลากรติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน เป็นพยาบาล 2 คน และแพทย์ 1 คน โรงพยาบาลบันนังสตา มีแพทย์ 8 คน และถูกกักตัว 6 คน รวมบุคลากรถูกกักตัว (Home Quarantine) ทั้งสิ้น 21 8o ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้แจ้งโรงพยาบาลบันนังสตาดำเนินการตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน



           กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้งดบริการผ่าตัดปกติ ผ่าตัดเฉพาะกรณีฉุกเฉิน เลื่อนนัดผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามเงื่อนไขความเจ็บป่วย งดหรือเลื่อนการให้บริการทางรังสีวิทยาไม่เร่งด่วนทุกชนิด งดบริการการนวดแพทย์แผนไทย งานทันตกรรมให้บริการเฉพาะกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วน บุคลากรของโรงพยาบาลทุกกลุ่ม ทุกคน หากมีไข้ มีอาการหวัด (ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก) ให้หยุดงานอยู่กับบ้าน



สาเหตุ‘หมอ’ติดเชื้อ ร้อยละ 50 คนไข้ไม่พูดความจริง



          นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สถานการณ์ของไทยที่พบผู้ป่วยยืนยันหลังวันที่ 15 มีนาคม เป็นจุดเปลี่ยนจากที่ระบาดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทั่งวันที่ 16-25 มีนาคม กระจายไปหลายจังหวัด แต่พบว่าหากกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอัตราของการติดเชื้อ 1 คน จะติดต่อ 3.4 คน ซึ่งเป็นอัตราที่สูง แต่ทางภาคใต้ เช่น สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต อัตราติดเชื้อ 1 คน จะติดต่อ 2.2 ราย และที่อื่นอัตราติดเชื้อ 1 คน จะติดต่อ 1.8-2.2 คน ซึ่งเป็นไปตามวิชาการ



           สัดส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยมีเท่าใด นอกเหนือจากผู้ป่วยไม่ได้แจ้งข้อมูลกับแพทย์จนทำให้แพทย์ติดเชื้อ มีปัจจัยใดอีกบ้าง นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วย 1,045 ราย มีบุคลากรทางแพทย์ 9 คน และในจำนวนบุคลากร 9 คน มีมากกว่าร้อยละ 50 ที่ผู้ป่วยไม่ได้บอกประวัติการเดินทางว่าไปในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ มีข้อมูลรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสะสม 9 คน เริ่มต้นจากบุคลากรจากรพ เอกชน ที่ไม่ทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อมารักษาตัว แต่มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออก บุคลากรจึงไม่ได้ระวังตัวเอง อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุขที่ต้องพูดคุยกับผู้ป่วย ในการสอบสวนโรค ซักประวัติ ต้องป้องกันตนเองเสมอ



รพ.สนามมธ.รับผู้ป่วยโควิดชุดแรก4ราย



           โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม  และได้รับ ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2 คนแรกที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและดูแลตัวเองได้แล้ว แต่ยังมีผลตรวจเป็นบวก ได้ย้ายเข้ามาภายในโรงพยาบาลสนามชั่วคราวรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาล 5 แห่ง ประกอบด้วย รพ.จุฬาฯ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.วชิรพยาบาล และ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อกักตัวดูอาการผู้ป่วยอีกอย่างน้อย 14 วัน ทำให้โรงพยาบาลทั้ง 5 แห่งมีเตียงผู้ป่วยว่าง และรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ หลังจากผู้ติดเชื้อทั้งสองรายขึ้นไปห้องพักชั้น 8 ซึ่งอยู่ห้องแยกกัน ผู้ป่วยทั้งสองคนได้ออกมายืนที่ระเบียงห้องพักและโบกมือทักทาย ชู 2 นิ้วสู้ตาย



           ด้าน ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยลักษณ์ ผอ.รพ.สนามธรรมศาสตร์ เผยว่า คนไข้ที่เข้ามาที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ 4 คน จะได้รับการตรวจหาเชื้อ จากนั้นจะประเมินอาการ โดยตั้งกล้องให้แพทย์และพยาบาลสังเกตอาการและพูดคุยกับผู้ป่วย คาดการณ์ไว้ว่าจะส่งกลับบ้านได้ภายใน 14 วัน และเมื่อกลับไปแล้วก็ต้องกักตัวเองที่บ้านเพื่อดูอาการต่ออีก 14 วัน ตอนนี้รพ.สนามธรรมศาสตร์มี 308 เตียง ขณะนี้คิดว่าเพียงพอ



วันนี้ ตร.เพิ่มอีก 5 ด่านตรวจโควิด-19 รอบกทม.



            พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) แถลงหลังประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ถึงการตั้งจุดตรวจป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า แต่ละด่านจะมีฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองท้องถิ่น สาธารณสุขอำเภอ และประชาชนจิตอาสา แนวทางปฏิบัติ จะเรียกยานพาหนะ เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชน หากพบมีไข้และเป็นคนในพื้นที่จะนำตัวส่งแพทย์ แต่หากเป็นคนนอกพื้นที่จะไม่อนุญาตเข้าพื้นที่เด็ดขาด ผู้ที่เดินทางต้องพกบัตรประชาชน ซึ่งจะตรวจสอบอายุ ตามข้อกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ออกจากบ้านในช่วงนี้เพื่อความปลอดภัย และทุกคนที่เดินทางต้องสวมหน้ากากอนามัย ยืนยัน ตำรวจไม่มีการปรับเงิน 200 บาท ถ้าพบประชาชนไม่สวมหน้ากากอนามัยในการเดินทาง ตามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียล



            และในวันนี้ (27 มีนาคม) จะตั้งด่านตรวจป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เส้นทางเข้ากทม. จะเพิ่มจุดตรวจอีก 5 จุด คือ ถนนเพชรเกษม รอยต่อนครปฐม ,ถนนบางนาตราด รอยต่อสมุทรปราการ ,ยกระดับบูรพาวิถี ด่านบางจาก ,ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และยกระดับด่านดอนเมืองโทลลเวย์ รวมเป็น 13 จุด



           พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.) กล่าวหลังประชุม ศบค.โควิด-19 เพิ่มเติมว่า กรณีเดินทางข้ามจังหวัดที่ในข้อเท็จจริงไม่อยากให้ข้าม เพราะต้องการให้จำกัดการเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดของตัวเอง แต่ถ้าจำเป็นต้องข้าม ต้องเจอกับมาตรการที่เข้มข้น ทั้งตรวจอุปกรณ์ในรถ ตรวจอุณหภูมิร่างกาย ตรวจบัตรประจำตัวประชาชน และถ้าตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตรวจไปที่โรงพยาบาลทันที ขอร้องไม่จำเป็นอย่าเดินทางข้ามจังหวัด



          สำหรับโทษถ้าฝ่าฝืนมาตรการและข้อกำหนด จะรับโทษหนักจำคุก 2 ปีปรับ 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เราไม่อยากใช้มาตรการลงโทษขนาดนั้น จึงขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดก่อน



กต.ห่วงต่างด้าวกลับหลังสงกรานต์



           กระทรวงต่างประเทศแสดงความเป็นห่วงตามแนวชายแดนรอบประเทศเป็นพิเศษ ว่า ทุกฝ่ายจะต้องมีความระมัดระวัง และดูแลปัญหา โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลับเข้าไทยหลังเทศกาลสงกรานต์ จะต้องมีการคัดกรองและตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์แพร่ระบาดในไทย  



ประเมิน ถ้าไม่เว้นระยะยอดป่วยพุ่ง2.5หมื่น



          นอกจากนี้ ที่ประชุมศบค. ยังประเมินแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและจำนวนคาดการณ์ถึงวันที่ 15 เมษายน โดยภาคประชาชนร่วมมือเว้นระยะห่างหรือ Social distancing ร้อยละ80  จะมีผู้ป่วยสะสม 7, 745 คน แต่หากประชาชน ร่วมมือเว้นระยะห่าง Social distancing เพียง ร้อยละ 50  จะมีผู้ติดป่วยสะสม 17, 635 คน และถ้าไม่มีมาตรการป้องกันจะทำให้มีผู้ป่วยสะสมถึง 25,225 คน



ตั้งกก.สอบจัดมวยลุมพีนี



           พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ผ่านระบบวิดีโอคอนฟอร์เร้นร่วมกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.)และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยพล.อ.อภิรัชต์ สั่งการให้พล.อ.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก (กพ.ทบ.)ตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรณีจัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ “ลุมพินีแชมเปี้ยนเกียรติเพชร” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่สนามมวยลุมพินี เพื่อพิจารณาความผิดในการลงโทษ เนื่องจากถูกร้องเรียน และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นเหตุของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด- 19 จนกลายเป็น Super Spreader



มาตรการรักษาระยะห่าง-อยู่บ้าน



           กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำ มาตรการระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดให้ได้ช้าที่สุด จำกัดพื้นที่แพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้



-เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพราะเชื้อไวรัสติดต่อได้ผ่านละอองขนาดเล็กที่มาจากการไอหรือจามได้



-หลีกเลี่ยงการสัมผัส ทางกายภาพ เพราะอาจเป็นการนำเชื้อมาสู่ตนเอง หรือขณะเดียวกันก็เป็นการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น



-หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านหรือใช้ขนส่งสาธารณะ และ



-การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home

ข่าวทั้งหมด

X