ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ชี้บทเรียนจากเหตุกราดยิง สะท้อนต้องมีมาตรการ-วิธีเอาตัวรอด จากเหตุฉุกเฉิน

11 กุมภาพันธ์ 2563, 18:22น.


          จากเหตุการณ์สะเทือนใจคนร้ายกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา หลายคนต้องนึกถึงว่าถ้าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์จะหนีเอาตัวรอดให้ปลอดภัยได้อย่างไร วันนี้มีการเสวนาในเวทีที่มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ให้ความรู้ เรื่อง Escape and Survive in Mass Shooting หรือ การเอาตัวรอดจากการกราดยิง อันดับแรกคือ การตั้งสติ เพราะเมื่อเกิดเหตุหรืออยู่ในเหตุการณ์จริง หัวใจจะเต้นเร็ว ใจสั่น อาจเกิดภาวะสติหลุดได้ จึงต้องดึงสติกลับมา ผศ.นพ.ณัทธร พิทยเสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆโดยทำปากจู๋พ่นลมออกจะทำให้จิตใจสงบลง เมื่อมีสติ ก็จะสามารถช่วยเหลือตัวเองและคนรอบข้างได้





           สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เพราะฉะนั้นการหาทางหนีทีไล่ หรือการสำรวจเส้นทางเข้า –ออกในสถานที่ที่เดินทางไปเป็นเรื่องสำคัญ รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ  ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำว่า หากรู้ทางเข้า-ออก เพียงทางเดียว มีโอกาสเป็นผู้สูญเสียมากขึ้น เมื่อไปห้างหรือตามสถานที่สาธารณะแล้วเกิดเสียงดังผิดปกติ เสียงปืน ระเบิด หวีดร้อง ควันไฟ หรือมีคนวิ่งผิดปกติ สับสน วุ่นวายหรือวิ่งไปทางทิศทางเดียวกัน จะต้องทิ้งข้าวของ หนีให้พ้นและเร็วที่สุด ไม่ลังเล อย่าวิ่งไปกระจุกกัน เพื่อลดจำนวนการสูญเสีย เพราะคนร้ายส่วนใหญ่จะเลือกก่อเหตุจุดที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้จะแตกต่างจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ที่สำคัญต้องตั้งสติให้ได้ หากหนีไม่ได้  ต้องซ่อนตัวให้มิดชิดในที่กำบังแข็งแรง หลบซ่อนให้พ้นสายตาของคนร้าย ปิดไฟมืด ปิดเสียงทุกอย่าง ล็อคประตูให้แน่นหนา และลากของมากีดขวางประตู จากนั้นแอบหลังตู้หรือสิ่งของใหญ่ๆ หากมีเสียงปืนขึ้นมา ต้องเงียบที่สุด และห้ามขยับ อยู่ห่างจากของมีคม บางทีเกิดการยิงถังแก๊ส ระเบิด ของเหล่านี้จะกระเด็นมาใส่เราได้ และถ้าซ่อนไม่พ้น สุดท้ายต้องสู้ เพราะเราและคนรอบข้างอาจรอดชีวิตได้  ซึ่งเมื่อตกอยู่ในเหตุการณ์ ควรโทรแจ้งเจ้าหน้าที่อันดับแรก เบอร์ 191 1669 หรือโหลดแอปพลิเคชั่น เช่น จส.100 แต่หากไม่สามารถโทรออกได้ขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่และคนอื่น ทาง SMS Line Facebook  และต้องปิดเสียง ปิดแสงหน้าจอ ประหยัดแบตเตอรี่ ติดตามข่าวสารช่องทางตามเพจต่างๆที่เชื่อถือได้ ไม่เสพข่าวมากเกินไป เพราะจะทำให้วิตกกังวล





          ครอบครัวที่มีเด็กเล็กและบุตรหลาน ควรฝึก สอนให้มีการตื่นตัวและระวังภัยในการเกิดเหตุร้าย สอนให้รู้จักทางหนีภัยและการออกจากพื้นที่อันตราย และรู้วิธีการแอบซ่อน ฝึกให้เงียบ ไม่ส่งเสียงดัง รวมถึงฝึกให้ท่องเบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครอง สำหรับเด็กโต อาจสอนให้ฝึกวิธีตอบโต้เมื่อเข้าตาจน เช่น นิ้ว หรือ ดินสอจิ้มตา



          ขณะที่ การห้ามเลือดผู้บาดเจ็บที่อยู่ในเหตุการณ์กราดยิง รศ.นพ.ศุภฤกษ์ ปรีชายุทธ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า เบื้องต้นต้องปฐมพยาบาลในพื้นที่ที่ปลอดภัย เมื่อพบผู้บาดเจ็บ ที่ถูกยิงในจุดที่ไม่สำคัญ เช่น แขน ขา สามารถเข้าไปช่วยห้ามเลือดได้ เพราะส่วนใหญ่ผู้บาดเจ็บเหล่านี้จะเสียชีวิตจากการเสียเลือดมาก โดยเริ่มจากหาจุดเลือดออกก่อน จากนั้นนำผ้าสะอาดที่สามารถหาได้ในขณะนั้น  เช่น ผ้าเช็ดหน้า หรือ เสื้อผ้า กดไปที่บาดแผลประมาณ 10 นาที  ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหล บาดแผลมีขนาดใหญ่ ให้นำผ้าสะอาดยัดเข้าไปในบาดแผลและกดไว้ ในขณะนั้นห้ามเปิดดูเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดพุ่ง จนทำให้เกิดอันตรายได้ แต่หากเลือดยังไม่หยุดไหลอีก ให้ใช้วิธี ขันชะเนาะ ใช้ผ้าที่มีความยาว เช่น ถุงเท้า เนคไท มัดบริเวณเหนือบาดแผลประมาณ3-4นิ้ว ใช้ช้อน ปากกา หวี หรือของใกล้ตัว ม้วนขันชะเนาะ แต่อย่าแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้ขาดเลือดบริเวณนั้นได้ จากนั้นพยายามบันทึกเวลาที่ขันชะเนาะ ห้ามเลือดเพื่อเป็นข้อมูลให้กับแพทย์ ทั้งหมดเป็นแนวทางที่มีประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญให้เรามีสติ เตรียมความพร้อมรับมือทุกเหตุการณ์ได้อย่างปลอดภัย  





 

ข่าวทั้งหมด

X