แนวทางที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เน้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีความยั่งยืน ต้องมีการทำประชามติ ไม่ให้เกิดข้อครหาและปัญหาจากฝ่ายเห็นต่าง รัฐธรรมนูญต้องไม่ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งประชาชนต้องเป็นคนที่กำหนดทิศทางประเทศ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องแก้ปัญหาระบอบการเมือง โดยเฉพาะการทุจริตและการใช้อำนาจในทางที่มิชอบของภาครัฐ โดยเสนอให้เพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ภาคประชาชน มีส่วนร่วมให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชนไปในตัว ส่วนที่มาของนักการเมืองและนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่กระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ต้องมีกระบวนการคัดเลือกที่แตกต่างกัน เนื่องจากการทำหน้าที่ที่ต่างกัน และเห็นว่าสว.ไม่ควรมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงกรณี นาย เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่จะนำหลักสถิติมาประมวลผลความเห็นของประชาชนว่าเป็นเรื่องดี แต่ต้องยอมรับว่าจะนำเพียงความเห็นแต่ละประเด็นของประชาชนบางส่วนและการคำนวณทางสถิติมาพิจารณาเป็นความเห็นของคนทั้งประเทศไม่ได้ และยังเห็นว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ควรยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่ เพราะการคงกฎอัยการศึกไว้เชื่อว่าส่งผลกระทบต่อการปฎิรูปและการแสดงความเห็นไม่สามารถรับฟังความเห็นได้เต็มที่ และเชื่อว่าหากยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งประเทศก็จะไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือหากเห็นว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงก็ให้ประกาศใช้เพียงบริเวณนั้น
ส่วนการลาออกจากพรรคของ นาย อลงกรณ์ พลบุตร เป็นความต้องการของนายอลงกรณ์เองที่ต้องการทำหน้าที่สปช.โดยอิสระ และยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกัน อีกทั้งพรรคก็มีนโยบายแต่แรกแล้วว่า จะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสปช. เพื่อป้องกันการครหาจากประชาชน
ธีรวัฒน์