ฝ่ายค้านและรัฐบาล เห็นตรงกัน ทำงบประมาณแบบสมดุลยาก

18 ตุลาคม 2562, 16:28น.


           แนวคิดการจัดทำงบประมาณว่าภายในปี 2573 ประเทศไทยจะสามารถจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบสมดุลได้  โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านอิสระ และฝ่ายรัฐบาลเองก็มองว่าเป็นเรื่องทำได้ยาก ทั้ง น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ และนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เชื่อว่า จะสามารถจัดสรรงบประมาณประจำปีแบบสมดุลคือรายรับกับรายจ่ายของรัฐเท่ากันได้



          นายมงคลกิตติ์ ให้เหตุผลว่าเพราะหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินงบแบบขาดดุลคือรายจ่ายมากกว่ารายรับมาตลอด และยังหาเงินเข้ารัฐไม่ได้มากพอ จึงได้เตรียมเสนอช่องทางหารายได้เข้ารัฐต่อที่ประชุมสภาในวันนี้ว่าให้นำภาษีต่างๆ เช่น เก็บภาษีเด็กเอ็นเตอร์เทนที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คน ในอัตราร้อยละ 25 ต่อคน, นำภาษีใต้ดินอย่างการเก็บส่วยขึ้นมาบนดิน และใช้การเก็บภาษีเงินทุจริตแบบประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมแล้วจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าทำได้ตามนี้ไม่เกิน 10 ปี ประเทศจะจัดงบประมาณแบบสมดุลได้



          เช่นเดียวกับ น.พ.ชลน่าน ที่มองว่า หากไทยยังพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลักและทำงานแบบรวมอำนาจโดยใช้รัฐเป็นศูนย์กลางแบบนี้ โดยไม่ปรับวิธีการทำงานและโครงสร้างทางเศรษฐกิจก็คงยากที่ประเทศจะดำเนินงบประมาณแบบสมดุลได้ จึงแนะนำว่ารัฐต้องเร่งหารายรับเข้าประเทศให้มากขึ้น, ส่งเสริมภาคการผลิตโดยเฉพาะเอกชน และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพียงแต่ตอนนี้ตัวเองก็ยังไม่เห็นตัวชี้วัดว่ารัฐจะทำได้จริง



          ด้านนายกรณ์ รับว่า การทำงบแบบสมดุลเป็นเรื่องดี แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องรีบทำ เพราะตอนนี้การกู้เงินเพื่อชดเชยการดำเนินงบแบบขาดดุลก็ยังไม่เป็นปัญหา เนื่องจากหนี้สาธารณะยังไม่อยู่ในจุดเสี่ยง อีกทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อช่วยประชาชนอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการดูแลผู้สูงอายุซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้งบจำนวนมาก



          น.พ.ชลน่าน และนายมงคลกิตติ์ ยังเห็นตรงกันว่างบแก้ภัยแล้งของรัฐบาลยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่แท้จริง โดย น.พ.ชลน่าน ยกตัวอย่างการให้งบแก้ภัยแล้งปีนี้ที่ให้จังหวัดละ 200 ล้านบาทจะได้ผลค่อนข้างต่ำ เพราะส่วนมากนำไปขุดลอกคูคลอง ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาตรงจุด และยังมีข้อสงสัยเรื่องทุจริต พร้อมชี้ว่าการแก้ภัยแล้งควรฟังความเห็นประชาชนมากกว่านี้  นอกจากนั้น การแก้ภัยแล้งยังไม่ตอบโจทย์ เพราะหลายแห่งยังไม่มีที่กักเก็บน้ำช่วงฤดูฝน ทั้งไม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย



 

ข่าวทั้งหมด

X