ทันสถานการณ์โลก 06.30น.วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2562
ไต้ฝุ่นฮากิบิส เคลื่อนเข้าใกล้ญี่ปุ่น
พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส เตรียมจะพัดถล่มญี่ปุ่นในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ด้วยความแรงลมเกือบ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ล่าสุดเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ของญี่ปุ่น รายงานว่า พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส เคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะฮอนชู ซึ่งเป็นเกาะหลักของญี่ปุ่นมากขึ้น ขณะเคลื่อนตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีความแรงลมใกล้ศูนย์กลาง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับว่ามีความแรงในระดับซุเปอร์ไต้ฝุ่น
ตลอดทั้งวันนี้ พายุเคลื่อนตัวใกล้หมู่เกาะโอกาซาวาระ ทางภาคใต้ของญี่ปุ่น คาดว่าจะมุ่งหน้าไปที่เกาะฮอนชู อาจจะอ่อนกำลังลงเล็กน้อยก่อนขึ้นฝั่งในคืนวันเสาร์หรือเช้ามืดวันอาทิตย์นี้ เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศญี่ปุ่นระบุว่ายากที่จะคาดการณ์ทิศทางลมอย่างชัดเจนในขณะนี้ แต่การเลี้ยวของพายุไปทางตะวันตก มุ่งสู่ภาคกลางหรือเลี้ยวไปทางตะวันออกลงสู่ทะเลอยู่ในเส้นทางการคาดการณ์ที่อาจจะเป็นไปได้
ไฟป่าในออสเตรเลีย สงสัยวางเพลิง
เหตุไฟป่าหลายจุดในรัฐนิวเซาท์เวลส์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียและรัฐควีนส์แลนด์ซึ่งอยู่ใกล้กัน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ยังควบคุมไม่ได้ ล่าสุด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงออสเตรเลีย เปิดเผยว่า มีผู้บาดเจ็บสาหัสหนึ่งคนขณะดับไฟที่ไหม้บ้านของตัวเอง มีบาดแผลไฟไหม้ตามร่างกาย เจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้มีบ้านเรือนถูกเผาเสียหาย 30 หลังในเมืองแรปวิลล์ มีพื้นที่ป่าเสียหาย 625,000 ไร่ และหลายพื้นที่ของออสเตรเลียประสบปัญหาภัยแล้งในปีนี้นานกว่าทุกปี ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในบางพื้นที่ของออสเตรเลียมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่วนสาเหตุของไฟป่า เบื้องต้นตำรวจยังไม่ตัดประเด็นเรื่องการจงใจวางเพลิง
สหราชอาณาจักร ประชุมสภานัดพิเศษหารือทางออกเบร็กซิต
บีบีซี รายงานอ้างรัฐบาลสหราชอาณาจักรว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมส.ส.วาระพิเศษในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม หรือหลังการประชุมสุดยอดของกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)ในวันที่ 17-18 ตุลาคม เพื่อหารือเรื่องอนาคตของเบร็กซิตหรือแผนถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป(อียู) โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดของกลุ่มอียูถือว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่สหราชอาณาจักรและกลุ่มอียูจะตกลงกันก่อนเบร็กซิตเริ่มมีผลในวันที่ 31 ตุลาคม หากทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักรจะเสนอให้ที่ประชุมส.ส.ลงมติรับรองข้อตกลงเบร็กซิต แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่สำเร็จ รัฐบาลก็อาจจะนำเสนอทางเลือกต่างๆให้ที่ประชุมส.ส.พิจารณาต่อไป รวมถึงการถอนตัวออกจากกลุ่มอียูแบบไร้ข้อตกลงและยุติการเจรจาเบร็กซิต
อีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า ขณะนี้ กลุ่มรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นางนิคกี้ มอร์แกน รัฐมนตรีวัฒนธรรม,นายจูเลียน สมิธ รัฐมนตรีด้านไอร์แลนด์เหนือ, นายโรเบิร์ต บัคแลนด์ รัฐมนตรียุติธรรม,นายแมทท์ แฮนค็อก รัฐมนตรีสาธารณสุข และ นายเจฟฟรี ค็อกซ์ อัยการสูงสุด เตรียมจะลาออก หากสหราชอาณาจักร ออกจากเบร็กซิต แบบไร้ข้อตกลง
ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลง /หุ้นสหรัฐขานรับปัจจัยจีนรับข้อเสนอสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 4 เซ็นต์ ปิดที่ 52.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ลอนดอนงวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 8 เซ็นต์ ปิดที่ 58.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังมีข่าวว่าจีนเปิดรับข้อตกลงการค้าบางส่วน ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 181.97 จุด ปิดที่ 26,346.01 จุด
ด้านราคาทองคำในวันพุธ(9ต.ค.) ปิดบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วัน นักลงทุนจับตาการเจรจาทางการค้า, พัฒนาการเกี่ยวกับเบร็กซิตและข้อมูลทางเศรษฐกิจ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 8.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,512.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ฟีฟ่าสั่งปรับฮ่องกง ฐานโห่ขณะร้องเพลงชาติจีน
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (FIFA) ปรับสมาคมฟุตบอลฮ่องกง หลังจากแฟนฟุตบอลชาวฮ่องกงโห่และเป่าปาก ระหว่างที่มีการเปิดเพลงชาติจีนในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมฮ่องกงกับอิหร่านเมื่อวันที่ 10 กันยายน โทษปรับ 15,000 ฟรังก์สวิส (ราว 457,488 บาท)ทีมฮ่องกงเข้าแข่งในฐานะทีมอิสระ แต่เนื่องจากเป็นเขตบริหารพิเศษของจีนจึงต้องเปิดเพลงชาติจีนก่อนเริ่มการแข่งขัน ผลการแข่งขันปรากฏว่าฮ่องกงพ่ายอิหร่านไป 0 ต่อ 2 ประตู
ทางการฮ่องกงเสนอร่างกฎหมายให้การดูหมิ่นเพลงชาติ มีความผิดอาญาตั้งแต่เดือนมกราคม สมาชิกสภานิติบัญญัติ เปิดเผยว่า อาจมีการพิจารณาในการประชุมสมัยหน้าในปีนี้ ร่างกฎหมายนี้กำหนดว่า ผู้ดัดแปลงคำร้องหรือร้องเพลงชาติจีนแบบบิดเบือนหรือไม่เคารพโดยมีเจตนาดูหมิ่นอาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับ 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 193,390 บาท)
ผู้คิดค้นแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออน คว้าโนเบิลสาขาเคมี
เอ็ม สแตนลีย์ วิตทิงแฮม นักเคมีชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษวัย 77-78 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม จอห์น บี กูดนัฟ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันวัย 97 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยเทกซัสที่ออสติน และอากิระ โยชิโนะ นักเคมีชาวญี่ปุ่นวัย 71 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยเมโจ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี จากผลงานการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีขนาดเบา อัดประจุใหม่ได้ และทรงพลัง ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกเพื่อให้พลังงานแก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่ผู้คนใช้ในการสื่อสาร ทำงาน เรียน ฟังเพลง และสืบค้นหาความรู้ เอื้อให้มีการพัฒนารถไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทางไกล และสามารถเก็บพลังงานจำนวนมากจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลม ปูทางไปสู่สังคมปลอดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
การวางพื้นฐานการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติน้ำมันช่วงปี 1970 เมื่อวิตทิงแฮมค้นพบไทเทเนียมไดซัลไฟด์ ซึ่งเป็นวัสดุอุดมด้วยพลังงานมหาศาล นำมาใช้สร้างขั้วแคโทด ขั้วไฟฟ้าขั้วหนึ่งของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ต่อมากูดนัฟได้สาธิตในปี 2523 จากนั้นโยชิโนะได้นำแคโทดแบบกูดนัฟมาผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่สามารถใช้เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 2528 และใช้วัสดุคาร์บอนทำขั้วแอโนด ที่เป็นขั้วไฟฟ้าอีกขั้วหนึ่ง ทำให้แบตเตอรี่มีน้ำหนักเบา ทนทาน สามารถอัดประจุใหม่ได้หลายร้อยครั้งกว่าจะเสื่อมสภาพ จนกระทั่งมีการผลิต ออกสู่ตลาดในปี 2534 เป็นรากฐานให้แก่การสร้างสังคมไร้สายที่ปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิล