*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.
++++พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (APEC) ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นเวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าหารือแบบทวิภาคีร่วมกับหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่มหาศาลาประชาชน ก่อนจะไปพบปะนักธุรกิจไทย นักเรียนไทย และคนไทยในกรุงปักกิ่ง พร้อมมอบนโยบายให้ทีมประเทศไทย โดยไทยยินดีที่จะร่วมมือกับจีนในการพัฒนารถไฟทางคู่เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงจีน ไทยและประเทศในภูมิภาค นายกฯได้ขอบคุณจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ ข้าวหอมมะลิ และยางพารา นายกฯได้เชิญนายก– รัฐมนตรีจีนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Great Mekong Subregion- GMS Summit) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ โดยไทยจะผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนา ระเบียงเส้นทางการคมนาคม (Transport Corridors) ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งและการป้องกันการลักลอบการค้ามนุษย์ด้วย
+++พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างพบกับคนไทยในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ขณะนี้ประเทศต้องทำการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งถึงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปให้ได้ และแผนการทำงาน หรือโรดแมป ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใน 3 ระยะ ที่ขณะนี้ดำเนินการในระยะที่สองแล้ว ส่วนการปฏิรูปประเทศ มีความจำเป็นที่ต้องเร่งทำ โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการออกกฎหมายภาษีมรดก ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการด้านเศรษฐกิจ
+++สำหรับวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ อาทิ นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี สุลต่านบรูไนประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ จากนั้นช่วงบ่ายจะเข้าร่วมหารือระหว่างผู้นำเอเปกกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก
+++วันนี้ประชุมต่อเป็นวันที่ 2ของสัมมนาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในหัวข้อ “สานพลัง สปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย” นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ได้กล่าวเปิดสัมมนาว่า เป้าหมายที่ทำให้การปฏิรูปมีผลสำเร็จมีด้วยกัน 6 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปแล้วต้องได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมต่อสภาพสังคมไทย 2.มีระบบเลือกตั้งสุจริตและเป็นธรรม 3.มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน 4.จะขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน 5.กลไกรัฐสามารถให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็วและ 6.ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดเป็นธรรม แต่เป้าหมายการปฏิรูปอาจแยกย่อยลงไปอีกได้เพื่อให้ครอบคลุมทั้งหมด สำหรับกระบวนการปฏิรูปน่าจะมีหลายวิธี แต่ต้องมีความรอบคอบวางแผนประสานสัมพันธ์ให้ดี มีเอกภาพทั้งรูปแบบและวิธีการ
+++ที่สำคัญ” ระวังสะดุดขาตัวเอง ต้องระวังเรื่องออฟไชด์” การฟังและให้มีส่วนรวมไม่ใช่ คำมั่นสัญญา แต่เป็นการเอาข้อมูลมาประกอบร้อยเรียงเพื่ออนาคตประเทศไทย ต้องช่วยกันระวังป้องกันเรื่องข้อมูลที่ประชาชนอาจจะเข้าใจผิด สำหรับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ ต้องไปสังเคราะห์ความคิดเห็นอีกครั้ง ว่าจุดยืนสถาบันเป็นอย่างไร โดยเฉพาะข้อเสนอให้มีการจัดดุลอำนาจอภิรัฐมนตรี ก็ถือเป็นข้อเสนอที่พร้อมรับฟังได้ (ที่ประชุมยังมีการเสนอให้มีการ จัดตั้งอภิรัฐมนตรีให้เป็นอีกดุลอำนาจหนึ่ง นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยจัดวางให้ อภิรัฐมนตรีมีอำนาจมากที่สุด ในฐานะรัฏฐาภิบาล ทั้งนี้เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาเมื่อ3 อำนาจ ขัดแย้งกัน )
+++นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการ จัดตั้งอภิรัฐมนตรีในเวทีสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้าว่า อำนาจ 3 ฝ่าย เป็นโครงสร้างที่ดีอยู่แล้ว การมีอภิรัฐมนตรีขึ้นมาคุมอำนาจอื่นเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ไม่เหมาะสม ประชาชนอาจไม่ยอมรับ ไม่สามารถผลักดันข้อเสนอได้
+++เช่นเดียวกับ นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย และอดีตประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการจัดดุลอำนาจใหม่ของสถาบันพระปกเกล้า รวมถึงข้อเสนอให้มีอภิรัฐมนตรี เพราะปัญหาอยู่ที่คน ดังนั้น รัฐธรรมนูญไม่ควรแก้ไขมาก แต่ให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 มาใช้
+++ส่วนประเด็นจำนำข้าว โพลล์ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.05 เชื่อว่าโครงการนี้มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 7 แสนล้านบาท รองลงมา ร้อยละ 35.25 เชื่อว่าโครงการนี้มีมูลค่าความเสียหาย 5-7 แสนล้าน ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินการของหน่วยงาน องค์กรหรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง ในการหาผู้รับผิดชอบต่อความ เสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว พบว่าร้อยละ 61.15 ระบุว่าควรหาผู้รับผิดชอบทั้งทางการเมือง เช่น การดำเนินการถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมือง และทางอาญา ส่วนความเชื่อมั่นในหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดจากโครงการรับจำนำข้าว พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.20 เชื่อมั่นในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองลงมา ร้อยละ 20.62 เชื่อมั่น ในสำนักงานอัยการสูงสุด
+++หลังจากที่คณะนักวิจัยของศิริราชพยาบาลได้ร่วมกันผลิตแอนติบอดีรักษาโรคติดเชื้ออีโบลา สำเร็จในระดับหนึ่ง และองค์การอนามัยโลกได้เชิญผู้วิจัยไปร่วมทดลองในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 (BSL4) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนำแอนติบอดีที่ผลิตได้ไปทดลองกับเชื้อไวรัสอีโบลาจริง เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถรักษาโรคได้จริงตามสมมติฐาน และการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการได้จริง หรือไม่นั้น ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ล่าสุด คณะนักวิจัยจะออกเดินทางไปสหรัฐ ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ นำทีมโดย ศ.เกียรติคุณ วันเพ็ญ ชัยคำภา หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา ศ.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คาดว่า จะใช้เวลาในการทดสอบประมาณ 2 สัปดาห์ และมีความเป็นไปได้สูงว่าสำเร็จ เบื้องต้นได้รับการประสานว่า หากผลการทดลองสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ องค์การอนามัยโลกจะขอนำไปใช้กับผู้ป่วยจริงในพื้นที่ระบาดทันที เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตทุกวัน
+++หากการทดลองสำเร็จ จะใช้เทคโนโลยีที่สหรัฐขยายแอนติบอดีให้เพียงพอต่อการใช้กับผู้ป่วยจริง ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยังเป็นเรื่องที่จะตกลงกันต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่ รพ.ศิริราชประกาศว่าสามารถ ผลิตแอนติบอดีเพื่อหยุดเชื้อไวรัสอีโบลาได้ ยังไม่มี ห้องปฏิบัติการ หรือคณะนักวิจัยจากประเทศใดๆ โต้แย้งในวิธีที่ รพ.ศิริราช สามารถทำได้แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการจำนวนมากทั่วโลกที่แข่งขันกันเพื่อหาวิธีหยุดยั้งอีโบลา
+++สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวตรวจพบแผ่นดินไหว เมื่อเวลา 04.49น. ที่พม่า ลึก 10 กม. ขนาด 2.8 ทางทิศเหนือของอ.ฝางจ.เชียงใหม่ ประมาณ 45 กิโลเมตร ใกล้จุดศูนย์กลาง ไม่รู้สึกสั่นไหว แต่เครื่องมือตรวจวัดได้*
CR:ภาพนายกฯ จากสำนักข่าวแห่งชาติ