การยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฏหมาย กล่าวว่า รูปแบบการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมีความละเอียดมากเกินไป เพราะจะทำให้การตีกรอบความหมายสั้นลง ส่วนตัวมองว่าการร่างรัฐธรรมนูญควรเขียนให้สั้น และควรมีกลไกเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหา หากมีข้อสงสัยควรสามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องรอให้เรื่องเกิดขึ้นเหมือนเช่นในอดีต ส่วนมีผู้เห็นต่าง และต้องการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเสนอแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สามารถทำได้ แต่ต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศยังไม่ปกติ และต้องเสนอแนวทางตามขั้นตอนผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติเท่านั้น
สำหรับยกเลิกกฏอัยการศึก รองนายกรัฐมนตรีด้านกฏหมายมองว่า ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศยังไม่เรียบร้อย จึงจำเป็นต้องคงการประกาศกฏอัยการศึกไว้อยู่ ซึ่งในอนาคตหากสถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลอาจจะผ่อนปรนในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรืออาจผ่อนปรนข้อบังคับบางประการ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุม สนช. ไว้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประสภาผู้แทนราษฏร และนายนิคม ไวยรัชพาณิช อดีตประธานวุฒิสภา ในกาผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่มาสมาชิกวุฒิสภา ว่าจะถอดถอนหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา5 และมาตรา6 ซึ่งจะต้องตีความข้อกฏหมายด้วยว่าจะสามารถดำเนินการถอนถอดได้หรือไม่
อภิสุข/ภาพ-ข่าว