หลังการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะใช้แนวทางใดในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่าง นำรัฐธรรมนูญเดิม มาปรับปรุงใช้ใหม่ กับ เริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเริ่มลำดับหมวดหมู่ที่สำคัญ เช่น หมวด พระมหากษัตริย์ การเมือง การปกครอง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่าหากใช้วิธีแรกอาจเป็นการยึดติดมากเกินไป จึงควรใช้วิธีที่ 2 เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาที่แท้จริง จากนี้ที่ประชุมจะจัดหมวดหมู่ที่สำคัญ คาดว่าการวางกรอบรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นภายในวันที่16พฤศจิกายน จากนั้นจะเริ่มจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการด้านสารรัตถะหรือเนื้อหา เพื่อเริ่มดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ยืนยันว่า คณะรับฟังความเห็นของอนุกรรมาธิการจะแตกต่างจากของสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช. )เพราะกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่กลุ่มเดียวกันรวมถึงมีการหารือกันถึง 10 กลไกที่คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างขึ้นเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ และเป็นไปตามกรอบมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า จะทำหนังสือไปสอบถามความคิดเห็น ซึ่งสามารถส่งหนังสือกลับมาชี้แจง หรือ เข้าชี้แจงด้วยตัวเองได้ สำหรับเรื่องการทำประชามติ ขณะนี้แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี2557 ไม่ได้ระบุไว้ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้น หากจะดำเนินการก็สามารถทำได้ แต่อาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีก เพราะการทำประชามติต้องใช้เวลาอย่างน้อย4-5เดือน นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งรองประธานกมธ.และตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ตามที่นายบวรศักดิ์ เปิดเผยรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการเมื่อวานนี้ เพื่อให้การทำงานของคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการไปอย่างคล่องตัว
บุศรินทร์