ป.ป.ช. ยืนยันความจำเป็นในการรณรงค์ให้เกิดกระบวนการต้านคนโกง

19 ตุลาคม 2557, 12:11น.


สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จัดโครงการ “ดู Cheat Don't cheat” ภายใต้โครงการยุวทูต ป.ป.ช. ซึ่งจัดโดยเยาวชนที่ร่วมโครงการกับป.ป.ช.และมีศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เดินทางมาเป็นประธานเปิดโครงการประธาน พร้อมกล่าวว่า โครงการนี้มีสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ในการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยมความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน ซึ่งก่อนหน้ากิจกรรมในวันนี้ ป.ป.ช.ได้มีการจัดประกวดยุวทูต ป.ป.ช.เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างกิจกรรมด้านการป้องกันการทุจริตกับเด็กและเยาวชน ซึ่งภายในงานมีการเสวนา หัวข้อ เมื่อการทุจริตอยู่รอบตัว รัฐหรือเราที่ต้องแก้ไข ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศ.พิเศษวิชา  มหาคุณ ศาสตราจารย์ ดร. อุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และนางสาวสุนทรี ปรางค์ทอง ยุวทูต ป.ป.ช. ภาคกลาง ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่าย จะมีการแสดงดนตรี และการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรณรงค์ป้องกันการทุจริต



ศาสตราจารย์ ดร. อุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ของการคอรัปชั่นจากภาครัฐ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และ เจ้าหน้าที่ สาเหตุที่สำคัญ คือ การเป็นสังคมบริโภคนิยม ประชาชนอยากได้อยากมี ทำให้ความโลภเข้าครอบงำ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างค่ายิยมที่ดี



ด้านศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เปิดเผยว่าสถิติการคอรัปชั่นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบาย เช่น โครงการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิง และ โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ที่มีการวางแผนตั้งแต่ต้นและหากฏหมายมารองรับความถูกต้อง



ส่วนนางสาวสุนทรี ปรางค์ทอง ยุวทูต ป.ป.ช. ภาคกลาง เปิดเผยว่า เยาวชนไม่ควรมองว่า การโกงเป็นเรื่องไกลตัว เพราะการโกงมีอยู่ทุกพื้นที่ หากเยาวชนเริ่มต้นโกงเรื่องเล็กๆน้อยๆเช่นการลอกข้อสอบ ต่อไปก็จะทำให้เป็นนิสัย



ทั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนาถามถึงการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ วิชา ได้ตอบว่า การทำหน้าที่ของป.ป.ช.ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะอยู่ในรูปแบบใดก็ต้องทำหน้าที่ตามปกติ และสาเหตุที่ป.ป.ช.ต้องเสริมสร้างการป้องกันการทุจริตให้กับเยาวชน เพราะในปัจจุบันแม้ว่าจะมีคนที่ไม่โกงอยู่มากแต่คนที่กล้าหาญที่จะต่อต้านคนโกงมีน้อย จึงต้องมีการรณรงค์ให้เกิดกระบวนการต่อต้านคนโกง



หลังการเสวนาจบลง ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา ยังกล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชะลอการพิจารณาถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา โดยกล่าวว่า ทางคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่ในการส่งเรื่องให้สนช.พิจารณาถอดถอนเรียบร้อยแล้ว ถือว่าป.ป.ช. ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีแล้ว และหากไม่มั่นใจว่าสนช.จะถอดถอนได้ คงไม่ส่งเรื่องไป โดยขั้นตอนหลังจากนี้อยู่ที่สนช.เป็นผู้พิจารณา หากเรื่องตกไป ป.ป.ช. ก็จะไม่รับกลับมาดำเนินการต่อ



ส่วนกรณีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปให้สนช.แล้ว แต่หากการเรื่องการถอดถอนนายสมศักดิ์ และ นายนิคม ตกไป ก็เป็นคนละเรื่องกันกับการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์



และกรณีที่มีการวิจารณ์ว่า ประเทศกำลังเดินหน้าสู่การสร้างความปรองดอง แต่การทำงานของป.ป.ช.สวนทางกับการสร้างความปรองดองนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา ยืนยันว่า แนวทางปรองดองของรัฐบาล คือการสร้างความปรองดองทางการเมือง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหารทำงานของป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรหลักในการดำเนินการกับผู้ที่ทำการทุจริต



ทั้งนี้ในวันที่ 21 ต.ค.จะเป็นวันครบรอบ 8 ปีการทำหน้าที่ของป.ป.ช. จะมีการแถลงข่าว เกี่ยวกับการดำเนินงานของป.ป.ช. และตอบข้อสงสัยของประชาชนให้สังคมรับทราบ ส่วนข้อเสนอในการปฏิรูปสำนักงานป.ป.ช. นายวิชากล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจ และพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น เพื่อนำมาสู่การปรับปรุง เพราะว่าทุกคนรวมทั้งสื่อมวลชน ก็จะต้องถูกปฏิรูปด้วยกันทั้งนั้น ส่วนแนวคิดที่จะยุบป.ป.ช.นั้น ต้องถามสังคมด้วยว่า ยอมหรือไม่ กับการยุบป.ป.ช.



..ผสข.บุศรินทร์ วรสมิทธิ์ 

ข่าวทั้งหมด

X