การยกระดับการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้นหลังพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำมีผลบังคับใช้ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยว่า ภารกิจของสทนช.ในปีนี้ จากนี้คงเน้นการป้องกันภัยแล้งเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่คาดว่าจะมีน้ำใช้การน้อยกว่าปีที่แล้วถึงกว่าร้อยละ 10 จึงหวั่นว่าอาจเกิดภัยแล้งได้ โดยภายในสัปดาห์นี้อาจมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันภัยแล้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการเฝ้าระวังอุทกภัยและแจ้งเตือนเหตุการณ์ให้ประชาชนรับทราบเพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น ส่วนภารกิจระยะยาว 20 ปีของสทนช. ได้จัดทำแผนแม่บทกำหนดพื้นที่ 66 จุดทั่วประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งขณะนี้ได้วางแผนงานแก้ไขไว้ชัดเจนแล้ว ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบกับประชาชนบ้าง แต่ก็ต้องทำเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน เชื่อมั่นว่าแผนแม่บทนี้จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ทั่วประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มกราคม ถือเป็นพระราชบัญญัติที่รอคอยมานาน 20-30 ปี ที่จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการน้ำในประเทศ โดยพระราชบัญญัติกำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการฯ พร้อมกำหนดให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำต่างๆ ทั้งกำหนดขอบเขตการทำงานและแผนปฏิบัติการต่างๆของแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในส่วนของสทนช. จะมีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทระดับประเทศ ส่วนสทนช. ระดับภาค ก็จะจัดทำแผนแม่บทระดับลุ่มน้ำเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ สทนช. ยังจะเป็นหน่วยงานกลางที่คอยบูรณาการการทำงานของแต่ละหน่วยงานไม่ให้เกิดการทับซ้อน, ให้งานไปในทางเดียวกัน ทั้งจะเป็นผู้กำหนดบทบาทของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดช่องว่างการทำงานลง
เลขาธิการสทนช. กล่าวถึง ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีการเรียกเก็บค่าน้ำจากกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆหลังจากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำมีผลบังคับใช้ว่า ยอมรับว่าจะมีการเก็บค่าน้ำจริง แต่เป็นอีกอย่างน้อย 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในความสนใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว และจะต้องมีการศึกษาให้ชัดเจนก่อนกำหนดเกณฑ์การเก็บค่าน้ำ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อคนทุกกลุ่ม โดยใน 2 ปีนี้จะมีการพิจารณารูปแบบการจัดเก็บค่าน้ำใหม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด แล้วจะมีฐานการคิดค่าน้ำอย่างไร แต่ยืนยันว่าขณะนี้การเก็บค่าน้ำยังเหมือนเดิมทั้งหมด ไม่มีเรียกเก็บผู้ใดเพิ่ม และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ต้องการให้มองถึงคุณค่าของน้ำมากกว่ามองถึงเรื่องการเก็บค่าน้ำ
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร