Severity: Notice
Message: Undefined offset: 75
Filename: news/detail.php
Line Number: 394
คนส่วนใหญ่มักละเลยอาการปวดที่เกิดตามข้อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การปวดตามนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า หรือข้อสะโพก และมักคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดที่เกิดตามอายุที่สูงขึ้นหรือบาดเจ็บจากการใช้งาน จึงนิยมซื้อยาบรรเทาอาการปวดกินเอง และพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรม ท่าทางต่าง ๆ ที่ทำให้อาการปวดข้อกำเริบ ซึ่งอาจหายได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการดังกล่าวกลับปวดรุนแรงเรื้อรังขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายบางชนิด
นพ.สุรราชย์ ธำรงลักษณ์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า การปวดตามข้อ คือหนึ่งในลักษณะอาการที่บ่งบอกได้หลายโรค ได้แก่ โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โรคเอส แอล อี หรือโรคพุ่มพวง และโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็น 4 โรคข้อยอดฮิตในคนไทยที่ตรวจพบในคนวัยทำงานมากขึ้น โดยแต่ละโรคจะมีอาการปวดตามข้อที่คล้ายกัน และมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น
โรคเก๊าท์ เมื่อปวดมักเกิดอาการบวมแดงร้อนตามข้ออย่างเฉียบพลัน ซึ่งจะเกิดขึ้นมาเองเฉย ๆ แม้บริเวณที่ปวดจะไม่เคยได้รับการกระทบกระแทกรุนแรงมาก่อน โดยข้อที่พบว่าเป็นโรคเก๊าท์ได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า หรือบริเวณช่วงท่อนล่างของร่างกาย ซึ่งอาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ สัตว์ปีก เครื่องใน กุ้ง ปลาหมึก และควรหลีกเลี่ยงการกดทับ เช่น การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับความร้อน เช่น การแช่น้ำพุร้อน
โรคเอส แอล อี หรือ โรคพุ่มพวง เป็นโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดตามข้อ กล้ามเนื้อ และมีผื่นรูปผีเสื้อที่ใบหน้าเป็นอาการนำ ซึ่งส่วนใหญ่มักปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า และข้อเท้า บางครั้งจะมีอาการบวมแดงร้อนร่วมด้วยคล้ายผู้ป่วยรูมาตอยด์ ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาการอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
โรคข้อเข่าเสื่อม มักตรวจพบในคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยระยะเริ่มต้นจะมีอาการปวดที่สัมพันธ์กับการใช้งาน ระยะกลางเมื่อกระดูกอ่อนเริ่มสึกกร่อน ข้ออาจมีการอักเสบ เริ่มโค้งงอ และเหยียดงอไม่สุด จนระยะรุนแรง เมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนมากขึ้น ข้อจะโก่งงอผิดรูปชัดเจน ส่วนของกล้ามเนื้อรอบข้อจะลีบเล็กลง ทำให้มีอาการปวดรุนแรงขณะลุกขึ้นจากท่านั่ง ซึ่งสามารถป้องกันได้เบื้องต้นด้วยการหลีกเลี่ยงการนั่งขอเข่านาน ๆ และการควบคุมน้ำหนัก
และสุดท้าย โรครูมาตอยด์ ซึ่งมีผู้ป่วยมากที่สุดในจำนวน 4 โรคที่กล่าวมา คือ ร้อยละ 0.5 – 1.0 หรือประมาณ 700,000 คนของประชากรใประเทศไทย โดยอาการปวดข้อของโรครูมาตอยด์มักเกิดมากที่สุดตอนช่วงตื่นนอน อาจมีอาการ 1-2 ชั่วโมง หรือทั้งวัน ทำให้ปวดบวมจนเคลื่อนไหวข้อลำบาก ซึ่งสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการแช่มือหรือเท้าในน้ำอุ่น โดยตำแหน่งของข้อที่มีอาการปวดมากที่สุดมักจะเป็นที่ข้อมือ และข้อนิ้วมือ
สำหรับการรักษา ปัจจุบันโรครูมาตอยด์ และโรคเอส แอล อี ถ้าปล่อยไว้นานไม่รีบมาพบแพทย์อาจกลายเป็นโรคเรื้อรัง แต่ถ้าหมั่นกินยา ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดก็มีโอกาสที่จะกลับมาหายเป็นปกติได้ ส่วนโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักนิยมซื้อยากินเอง ซึ่งเป็นยาที่มีส่วนประสมของยาแก้ปวดที่เป็นอันตรายต่อกระเพาะ ไม่ใช่ยารักษาโรคเก๊าท์โดยตรง และควรหมั่นดูแลตนเองด้วยการกินอาหารที่สด สะอาด ครบทั้ง 5 หมู่ นอนหลับพักให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์ ของหมักดอง อาหารเสริม และหากร่างกายร่างกายเริ่มแสดงอาการปวดตามข้อ ก็ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
ภาพจาก : nari.punjabkesari.in marylandfeet reachmd interimhealthcare