ก.แรงงาน เปิดศูนย์บริหารแรงงานแบบครบวงจร ขานรับ EEC

17 มกราคม 2562, 14:36น.


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมความร่วมมือในการพัฒนาแรงงาน เยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ กิจกรรมนัดพบแรงงาน และมหกรรมอาชีพ  ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี อ.เมือง จ.ชลบุรี 



โดยมีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้กำหนดให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึง อุตสาหกรรมและบริการที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบโจทย์การพัฒนาของพื้นที่ EEC เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล โดยการบริหารจัดการด้านแรงงานในพื้นที่ EEC จำเป็นต้องมีข้อมูลความต้องการแรงงานในพื้นที่ เพื่อมาจับคู่คนเข้ากับงาน ตลอดจน กำหนดทิศทางการพัฒนาคนและทักษะอาชีพของกำลังแรงงานให้มีคุณภาพสูง เป็นแรงงานคุณภาพหรือ Super Worker และสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ศูนย์บริหารจัดการแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นศูนย์ที่สามารถอำนวยความสะดวกด้านแรงงานให้แก่นายจ้าง นักลงทุน ผู้ประกอบการ และแรงงาน ได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้ง ตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนด้านแรงงานได้อย่างแท้จริง เพื่อตอบรับความต้องการด้านแรงงานของสถานประกอบการกว่า 37,000 แห่ง และแรงงานกว่า 1 ล้านห้าแสนคน



พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา จัดทำฐานข้อมูลเพื่อทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้บริการด้านแรงงานที่ครอบคลุม ทั้งการจัดหาแรงงาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน สวัสดิการแรงงานและความปลอดภัยในการทำงาน และประกันสังคม อำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและนักลงทุนในพื้นที่เพื่อตรวจลงตรา VISA และขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบกิจการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยกำหนดมาตรการขับเคลื่อนเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน จัดหาแรงงานที่ขาดแคลนในพื้นที่ EEC จำนวน 14,767 อัตรา ให้กับสถานประกอบกิจการกว่า 1,000 แห่ง กระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ สำนักงาน EEC ในการสำรวจความต้องการ  2. ระยะกลาง 1-5 ปี สำรวจความต้องการแรงงาน ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาทักษะบุคลากรของตนเองกว่า 580,000 คน มุ่งเน้นให้แรงงานมีความเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต และ 3. ระยะยาว 5-10 ปี จัดให้มีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงการจัดหางานกับตัวบุคคล ปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาคนของประเทศทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการคิด การเรียนการสอน การฝึกอบรม ไปจนถึงการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของแรงงาน



ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้านแรงงานในพื้นที่ EEC อย่างเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพแรงงาน ด้วยการฝึกฝนอบรม และเพิ่มทักษะ ในสาขาวิชาชีพเป้าหมายให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ (super worker) สามารถใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว จะช่วยผลักดันให้นโยบายดังกล่าวเป็นรูปธรรม  สร้างโอกาสการขับเคลื่อนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้



แฟ้มภาพ



CR:รัฐบาลไทย,กระทรวงแรงงาน 



 

ข่าวทั้งหมด

X