ในวันนี้ สภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร จะมีการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างข้อตกลงออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า เบร็กซิต ฉบับของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ตามผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงร้อยละ 52 จำนวน 17 ล้าน 4 แสนคนมีมติให้ออกจากกลุ่มและร้อยละ 48 หรือ 16 ล้าน 1 แสนคนต้องการให้อยู่ในกลุ่มต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาเป็นอย่างไร สหราชอาณาจักรก็ต้องออกจากกลุ่มในเวลา 23.00 น. ของวันที่ 29 มีนาคมนี้ แต่หากที่ประชุมออกเสียงรับร่างของนายกรัฐมนตรีก็จะหมายถึงการออกจากกลุ่มแบบมีข้อตกลง แต่หากที่ประชุมออกเสียงไม่รับก็จะเป็นการออกจากกลุ่มโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเงินและการค้า แต่แม้ว่านักวิเคราะห์จากทุกสำนักจะเตือนไว้เช่นนี้ก็ยังมีแนวโน้มว่าสมาชิกสภาฯ ของสหราชอาณาจักรจะออกเสียงไม่รับร่างของนายกรัฐมนตรี
ส่วนที่สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ทวีตข้อความเตือนตุรกีว่า จะทำลายเศรษฐกิจของตุรกี หากฉวยโอกาสช่วงที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากซีเรีย ไปโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดวายพีจีซึ่งเป็นกองกำลังสำคัญในการกวาดล้างกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส และเสนอให้มีการกำหนดเขตปลอดภัยระยะทาง 32 กิโลเมตร ตามแนวชายแดนระหว่างตุรกีกับซีเรีย โดยในเวลานี้กองทัพสหรัฐเริ่มการเคลื่อนย้ายอาวุธบางส่วนออกมาจากซีเรียแล้ว แต่ยังมีกำลังทหารอยู่
กลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนซีเรีย (เอสโอเอชอาร์ ) รายงานว่า นับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ชาวซีเรียมากกว่า 16,000 คน อพยพออกจากเขตภาคเหนือของประเทศ เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของตุรกี แต่ในกลุ่มผู้อพยพมีนักรบไอเอสปะปนอยู่ด้วย
ด้านรัฐบาลตุรกี นายเมฟลุต คาวูโซลู รัฐมนตรีการต่างประเทศของตุรกี กล่าวว่าตุรกีเคยแถลงหลายครั้งว่า ไม่กลัวคำขู่ของประธานาธิบดีสหรัฐ แต่มีความสนใจเรื่องการกำหนดเขตปลอดภัยตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่าชาติพันธมิตรที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จะไม่หารือกันผ่านทวิตเตอร์ หรือผ่านสื่อสังคม และก่อนหน้านั้น โฆษกของประธานาธิบดีตุรกี ระบุว่า กลุ่มวายพีจีก็ไม่ได้ต่างจากกลุ่มไอเอส
ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจ ที่ชี้ว่า จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2561 แม้ว่ายอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนธันวาคมจะลดลงมาก ที่แสดงให้เห็นถึงผลจากการทำสงครามการค้า สำนักงานศุลกากรจีน รายงานว่าการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.3 ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ส่งผลให้ได้เปรียบดุลการค้ามากที่สุดในรอบ 12 ปี อยู่ที่ 323,300 ล้านดอลลาร์ จาก 275,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 และมียอดการส่งออกไปทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 สูงสุดในรอบ 7 ปี และยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการจีนมีการกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่ร้อยละ 6-6.5 หลังจากขยายตัวร้อยละ 6.6 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ และกระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า จะคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ พร้อมปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและขยายการค้ากับต่างชาติ เพื่อรักษาอัตราการจ้างงาน รวมทั้งเสถียรภาพของภาคการเงิน การค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจจีนหลายตัวที่มีการทยอยเปิดเผยออกมา ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ภาวะการชะลอตัว โดยยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ ของจีนในอเมริกาเหนือและยุโรปปรับตัวลดลงในระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยเม็ดเงินลงทุนในสหรัฐปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 83 ส่วนในยุโรป แม้โดยรวมทั้งภูมิภาคจะมีการลงทุนลดลง แต่พบว่ามีการลงทุนเพิ่มขึ้นในเยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน
สัญญาน้ำมันดิบในตลาดโลก สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 1.08 ดอลลาร์ ปิดที่ 50.51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 1.49 ดอลลาร์ ปิดที่ 58.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ดาวโจนส์ ลดลง 86.11 จุด หรือร้อยละ 0.36 ปิดที่ 23,909.84 จุด
เอสแอนด์พี ลดลง 13.65 จุด หรือร้อยละ 0.53 ปิดที่ 2,582.61 จุด
แนสแดค ลดลง 65.56 จุด หรือร้อยละ 0.94 ปิดที่ 6,905.91 จุด
...