หลังจากที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่สิ้นสุดลง นาย ดอน เปิดเผยว่า รู้สึกโล่งใจและขอขอบคุณคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าก่อนหน้านี้กังวลในเรื่องนี้จนทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากต้องแบ่งเวลาบางส่วนมาเตรียมเอกสาร หลังจากนี้ก็ไม่มีสิ่งใดแล้ว ทำให้เดินหน้าทำงานได้เต็มที่ เพราะยังมีงานที่สำคัญรออยู่ โดยเฉพาะการเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนของไทยในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะวาระเป็นประธานอาเซียน 1 ปี ในทั้ง 3 ระดับคือในระดับรัฐบาล, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อาวุโส
ส่วนที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อปี 2552 แล้วเกิดการชุมนุมนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาต่อการเป็นเจ้าภาพประธานอาเซียนของไทยในปีหน้า เช่นเดียวกับการที่ไทยอยู่ในช่วงเลือกตั้งก็จะไม่มีปัญหาเช่นกัน พร้อมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพพอในการเป็นประธานอาเซียน และได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกเป็นอย่างดี แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร เพราะไม่เคยมีการใช้ความรุนแรง และประเทศก็มีแต่ความสงบสุข
นาย ดอน ไม่ยืนยันว่าตัวเองจะอยู่จนรัฐบาลชุดนี้ครบวาระหรือไม่ เนื่องจากต้องดูหลายปัจจัยควบคู่ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ แต่ย้ำว่าไม่ใช่การบอกว่าจะลาออก ส่วนอนาคตคงไม่กลับมาเล่นการเมือง และไม่ลงรับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนแล้วแม้จะมีโอกาส เนื่องจากคนเราควรรู้จักพอเพียง แต่ยินดีจะเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างประเทศให้ได้ เพราะตลอดชีวิตก็ยึดอาชีพนี้มาโดยตลอด ส่วนหากรัฐบาลชุดปัจจุบันได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก รัฐมนตรีต่างประเทศควรเป็นคนเดิมเพื่อสานงานต่อหรือไม่ ส่วนตัวขอให้เป็นเรื่องอนาคต ขณะที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆนี้หรือไม่ ตัวเองไม่ทราบ และไม่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้ เพราะเป็นการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เท่านั้น
ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องให้มีผู้สังเกตการณ์ในช่วงเลือกตั้ง นาย ดอน มองว่า ไม่จำเป็น เพราะการเลือกตั้งเป็นเรื่องภายใน และผู้สังเกตการณ์ดีที่สุดคือ ประชาชน ส่วนการส่งผู้สังเกตการณ์มาดูการเลือกตั้งจะถือเป็นการแทรกแซงประเทศหรือไม่ นาย ดอน ระบุว่า จะตีความเช่นนั้นก็ได้ แต่ประเทศที่จะมีผู้สังเกตการณ์ได้ต้องเป็นเฉพาะประเทศที่มีปัญหา ก่อนย้อนถามกลับว่าต้องการให้ประเทศถูกมองเช่นนั้นหรือไม่ สำหรับรัฐบาลยังไม่จำเป็นที่จะต้องส่งสัญญาณเรื่องนี้ไปยัง กกต. นอกจากจะมีใครถามขึ้นมา ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีประสบการณ์ในการเลือกตั้งมาหลายครั้ง บางประเทศก็มาดูงานที่ไทยด้วย
นายดอนกล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศก็ไม่ได้เป็นเหมือนทฤษฎีการรัฐประหารที่รัฐบาลจะคุมเข้ม และคงเกินไปหากจะกล่าวว่าประเทศไทยมีเผด็จการ เพราะที่ผ่านมาเผด็จการไม่เกิดขึ้นในประเทศเท่าใดนัก พร้อมย้ำว่าไม่เคยมีสิ่งใดกระทบเกินเลยสิทธิ์ของประชาชน พร้อมระบุถึงการที่บางประเทศพูดว่ากฎหมายม.112 ลิดรอนสิทธิประชาชนว่า ทุกประเทศก็มีกฎหมายจำกัดบางสิ่งในประเทศเสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นมีแค่ไม่กี่คนในประเทศที่มีปัญหา เหตุใดเป็นคำถามที่ควรมาถามในเมื่อประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานหนักมาตลอด